บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) การจัดการสุขภาพของประชาชนในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัวและชุมชน 2) เงื่อนไขที่มีผลต่อการจัดการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่สถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วยชาวบ้านไทยพุทธและไทยมุสลิมจาก 2 หมู่บ้านในตำบลคลองใหม่ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ได้แก่ ชาวบ้านทั่วไป ชาวบ้านได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ ผู้นำศาสนา/ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)/กลุ่มแม่บ้าน หมู่บ้านละ 18 คน การเก็บข้อมูลใช้การสังเกต สัมภาษณ์เจาะลึก และการสนทนากลุ่ม และใช้วิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และการสรุปประเด็น (Thematic Analysis) ระหว่างเดือนสิงหาคม 2551-มกราคม 2553 ผลการศึกษาพบว่าภาวะสุขภาพในช่วงสถานการณ์ความไม่สงบ ชาวบ้านไทยพุทธและมุสลิมส่วนใหญ่ยังเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไข้หวัด ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพของคนในหมู่บ้านมาตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์และมีการระบาดของโรคชิคุนกุนย่า ส่วนปัญหาสุขภาพที่เป็นผลมาจากสถานการณ์ความไม่สงบโดยตรง คือ โรคเครียดจากความหวาดกลัวความปลอดภัยในชีวิตและการสูญเสียคนในครอบครัวและทำมาหากินลำบากเนื่องจากไม่ปลอดภัยในการเดินทาง การจัดการสุขภาพพบว่าเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย ชาวบ้านไทยพุทธและมุสลิม นิยมซื้อยากินเองจากร้านค้าในหมู่บ้าน ส่วนชาวบ้านที่มีฐานะดีมักไปคลินิก ชาวบ้านไทยมุสลิมนิยมใช้บริการสุขภาพที่สถานีอนามัยของตำบลเป็นอันดับแรก ส่วนชาวบ้านไทยพุทธไปใช้บริการน้อย เนื่องจากความไม่ปลอดภัยในการเดินทาง เมื่อป่วยหนักหรือฉุกเฉิน ชาวบ้านไทยพุทธจะขอเช่าเหมารถยนต์ของเพื่อนบ้านไปส่งผู้ป่วยที่โรงพยาบาล ในช่วงกลางคืนชาวบ้านไทยพุทธจะติดต่อขอช่วยทหาร ส่วนชุมชนไทยมุสลิมมีการดูแลสุขภาพไม่แตกต่างจากเดิม เมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ในหมู่บ้านไทยพุทธ มี อสม. เป็นแกนนำในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ส่วนหมู่บ้านไทยมุสลิมยังไม่มีการรวมกลุ่มในการดูแลสุขภาพเชิงการป้องกันที่ชัดเจนและมีการดูแลตนเองตามความเชื่อ เงื่อนไขที่มีผลต่อการจัดการสุขภาพของชาวบ้าน คือความไม่สะดวกและกลัวในการเดินทาง การว่างงานและขาดรายได้ การสูญเสียของบุคคลที่เป็นแกนหลักในหมู่บ้าน ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวไทยพุทธกับมุสลิม เจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ได้น้อย ศาสนสถานเป็นศูนย์รวมกิจกรรมและการสื่อสาร การรวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทหารยังเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านไทยพุทธ การศึกษาของเยาวชนไทยมุสลิม ข้อเสนอแนะ ควรให้การสนับสนุนภาคประชาชนให้สามารถจัดการสุขภาพของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยส่งเสริมเวทีการเรียนรู้ในชุมชน ควรสร้างความเข้าใจที่ดีในชุมชน โดยให้ผู้นำศาสนามีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในระดับปฐมภูมิ ควรสร้างเครือข่ายการทำงานแบบบูรณาการกับบุคคลหรือหน่วยงานอื่น ควรมีการวิจัยประเมินผลการเยียวยาที่มีอยู่ในปัจจุบัน วิจัยเพื่อการพัฒนาศักยภาพ อสม.ในการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบและวิจัยเพื่อการพัฒนาการศึกษาให้กับเยาวชนมุสลิม