บทคัดย่อ
โครงการปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาศักยภาพของนักสังคมสงเคราะห์ด้านยาเสพติด จัดทำขึ้นภายใต้การดำเนินงานของสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานกลางในการสนับสนุนประสานและมีบทบาทและหน้าที่เพื่อการพัฒนาสมรรถนะการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ภายในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักสำคัญ 5 ประการ คือ (1) เพื่อจัดทำหลักสูตร- เนื้อหา เพื่อใช้ในการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาที่เกี่ยวข้อง (2) เพื่อจัดทำหลักสูตร-เนื้อหาการฝึกอบรม สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสังคมสงเคราะห์ (3) เพื่อร่วมกันพัฒนากลไกและระบบสนับสนุนการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ด้านยาเสพติดให้สามารถปฏิบัติงานในขอบข่ายหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (4) เพื่อร่วมกันจัดทำและพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ด้านยาเสพติดให้มีความเป็นรูปธรรมและสามารถนำไปใช้ได้ในการกำกับ ตรวจสอบการปฏิบัติงานจริงของนักสังคมสงเคราะห์และผู้ปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ด้านยาเสพติด และ (5)เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานสังคมสงเคราะห์และงานด้านยาเสพติด ภายใต้การดำเนินงานในระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 – มีนาคม 2553 คณะทำงาน อันประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ด้านยาเสพติดจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดเวทีวิพากษ์องค์ความรู้ เวทีระดมสมองด้านองค์ความรู้ หลักสูตร และมาตรฐานการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ด้านยาเสพติด โดยจัดขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้รับทราบถึงสถานการณ์และทำให้ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดได้มีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำให้เกิดความร่วมมือใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาก่อให้เกิดวิชาเลือก 1 รายวิชาในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปี 2552 ของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคมของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้นำเนื้อหาสาระไปปรับใช้ในรายวิชาที่กำลังเปิดสอนอยู่ หลักสูตรการอบรมนักสังคมสงเคราะห์ด้านยาเสพติด สำหรับเจ้าหน้าที่มือใหม่ เป็นหลักสูตรที่ใช้ในการอบรมให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องที่มีระยะเวลาการทำงานด้านยาเสพติดมาไม่เกิน 2 ปี โดยจะต้องเข้ารับการอบรมให้มีความรู้ ความสามารถ เทคนิค ทักษะในการปฏิบัติงานที่ดียิ่งขึ้น จึงได้ทดลองอบรมหลักสูตรดังกล่าว และมีผลการฝึกอบรมโดยผู้เข้าร่วมอบรมสะท้อนว่าสามารถนำไปใช้ได้ในการปฏิบัติงานในระดับมาก และมีข้อเสนอว่า อยากให้มีการฝึกปฏิบัติและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ในเรื่องมาตรฐานการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ด้านยาเสพติด เกิดมาตรฐานฯ ทั้งสิ้น 11 ข้อ ได้แก่ 1. จรรยาบรรณและค่านิยมในการปฏิบัติงาน 2. ความรู้ ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงานวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ด้านยาเสพติด 3. การประเมินทางสังคม ความเสี่ยงและความซับซ้อนของปัญหา 4. การวางแผนการดำเนินงาน 5. สัมพันธภาพทางวิชาชีพ 6. ทีมงานและทีมสหวิชาชีพในการปฏิบัติงาน 7. การจัดการความรู้และการพัฒนาทางวิชาชีพ 8. ทุนทางสังคมวัฒนธรรมและการบริหารจัดการทรัพยากรทางสังคมและสภาพแวดล้อม 9. การจัดการข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ 10. การบริหารจัดการภายในองค์กรและกำหนดภารกิจ 11. การประเมินทางวิชาชีพ ปัจจุบันได้เกิดการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานหลายหน่วยงานและครอบคลุมทุกบริบทของการทำงาน ทั้งงานด้านวิชาการ อันได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ด้านวิชาชีพ คือ สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ซึ่งต้องเป็นผู้กำกับดูแล และตรวจสอบการทำงานของนักวิชาชีพงานสังคมสงเคราะห์ และในด้านปฏิบัติการที่ได้รับความร่วมมือจากนักสังคมสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม โดยสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย จะนำมาตรฐานการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ด้านยาเสพติดนี้ เสนอต่อคณะอนุกรรมการการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐาน และคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ เพื่อให้การรับรองและในส่วนความร่วมมือต่างๆ นั้นกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานกับแต่ละหน่วยงานต่อไป