บทคัดย่อ
มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการของนักสังคมสงเคราะห์และผู้เกี่ยวข้องในการฝึกอบรมความรู้ และทักษะในการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ด้านยาเสพติด ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดและผู้เกี่ยวข้อง (นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่คุมประพฤติ พยาบาล) จากสังกัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวน 241 คน
ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะของหน่วยงานต้นสังกัดของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานภาครัฐ รองลงมาคือหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานองค์กรพัฒนาเอกชน โดยเป็นหน่วยงานสังกัดกรมราชฑัณฑ์ (ฑัณฑสถาน) มากที่สุด รองลงมาเป็นหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร คลินิกยาเสพติด ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดกทม. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานในสังกัดกรมคุมประพฤติ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด หน่วยงานสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเอกชน และสังกัดองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าลักษณะงานด้านยาเสพติดในหน่วยงานเป็นงานหลัก ได้แก่ บริการฝึกอาชีพสำหรับผู้ว่างงาน/ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโทษของยาเสพติดแก่กลุ่มเป้าหมาย
หน่วยงานของกลุ่มตัวอย่างมีรูปแบบการบำบัดรักษาผู้ใช้ยาเสพติด พ.ศ.2545 ซึ่งมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับรูปแบบบำบัดรักษาแบบสมัครใจ สำหรับลักษณะของกิจกรรมในการดูแลผู้ใช้ยาเสพติดในหน่วยงานพบว่า ส่วนใหญ่เป็นลักษณะของกิจกรรมแบบฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ใช้ยาเสพติด
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมีอายุระหว่าง 31-40 ปี วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี มีระยะเวลาการทำงานกับผู้ใช้ยาเสพติดน้อยกว่า 6 ปีมากที่สุด โดยส่วนใหญ่มีตำแหน่งเป็นนักสังคมสงเคราะห์ และมีบทบาทหน้าที่ในหน่วยงานโดยปฏิบัติงานด้านยาเสพติดและงานอื่นๆควบคู่กันไป และจำนวนครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างเคยผ่านการอบรมหลักสูตรด้านยาเสพติดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยหลักสูตรที่เคยผ่านการอบรมมากที่สุด ได้แก่ จิตสังคมบำบัด (Matrix program) การพัฒนาการดูแลผู้เสพ/ผู้ติดสารระเหย บุหรี่การบำบัดผู้ใช้สุรา กลุ่มปัญหาสังคม การบำบัดผู้ป่วยเสพติดรุนแรง (Hard core) ความรู้เกี่ยวกับพืชกระท่อม เป็นต้น
จากผลการศึกษาเกี่ยวกับความต้องการการพัฒนาความรู้ ทักษะในการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ในภาพรวมของกลุ่มตัวอย่าง สามารถทำการอภิปรายได้ดังนี้
ด้านสถานการณ์การมาใช้บริการของผู้ใช้ยาเสพติด ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการรูปแบบที่หลากหลายขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาของผู้ใช้ยาเสพติดและครอบครัว โดยรูปแบบที่กลุ่มตัวอย่างใช้บำบัดรักษากับผู้ใช้ยาเสพติดมากที่สุด คือการบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม รองลงมาคืองานเอกสาร การเขียนบันทึกรายงานและการสัมภาษณ์และการบำบัดเพื่อการเสริมแรงจูงใจตามลำดับ โดยประเด็นงานเอกสารการเขียนบันทึกรายงานมีนัยยะรวมถึงการบันทึกเอกสารอื่นๆที่มีความเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ใช้บริการ นอกจากนี้หากพิจารณาภาพรวมในการใช้วิธีการบำบัดรักษาจะเห็นได้ว่า วิธีการสัมภาษณ์ประวัติ การประเมินสภาพปัญหาและความต้องการและการวินิจฉัยสภาวะทางสังคม เป็นวิธีที่กลุ่มตัวอย่างใช้ในการให้บริการมากที่สุด ซึ่งถือว่ามีความสอดคล้องกับกระบวนการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ที่ให้ความสำคัญกับการประเมินวินิจฉัยทางสังคมของผู้ใช้บริการ เพื่อนำไปสู่การให้บริการแก่ผู้ใช้บริการได้อย่างเหมาะสม