บทคัดย่อ
การประเมินการบริหารจัดการโรคเบาหวานในโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดอุบลราชธานี การประเมินผลของนโยบายการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการรักษา ยังมีข้อจำกัดในตัวชี้วัดที่เลือกใช้ในการประเมินของแต่ละโรงพยาบาล มีความหลากหลายไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันไม่สามารถนำข้อมูลมาเปรียบเทียบระหว่างโรงพยาบาลได้ ถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดเดียวกันก็ตาม ปัจจุบันโรงพยาบาลนำระบบข้อมูลฐานอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการบริหารจัดการด้านยาและการดูแลผู้ป่วย แต่การใช้ประโยชน์ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ยังไม่มีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล การบริหารจัดการโรค ประเมินผลลัพธ์การบริหารจัดการโรค จึงควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลฐานอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำมาใช้พัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายในระดับจังหวัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการบริหารจัดการโรคเรื้อรังอย่างมีประสิทธิภาพในโรงพยาบาลชุมชน วัตถุประสงค์ พัฒนาทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลฐานอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ประเมินการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและประเมินผลลัพธ์ตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการรักษา ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยระยะยาว อบรมทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลฐานอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ทีมสหวิชาชีพในคลินิกเบาหวานของโรงพยาบาลชุมชน 18 แห่ง วิเคราะห์ข้อมูลจากโปรแกรม HI 16 โรงพยาบาล , Mbase 1โรงพยาบาล , HOSxP 1 โรงพยาบาล ย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549-2552 ด้วยโปรแกรม STATA version 9.2 ผลการศึกษา ผลการศึกษาแสดงถึงระดับคุณภาพของกระบวนการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและผลลัพธ์คุณภาพการดูแลรักษาด้านคลินิกที่มีความแตกต่างกันสูง ในโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 -120 เตียง ดังนี้ ผลด้านกระบวนการดูแลในปี 2552 โรงพยาบาลชุมชนสั่งตรวจตัวชี้วัดติดตามอย่างน้อยปีละ1 ครั้งใน 7 ตัวชี้วัด ได้แก่ Serum creatinine มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 69.03 รองลงมา TG , LDL, Total CHO , HDL,UA และ HbA1c เท่ากับร้อยละ 59.30, 57.52 , 56.09, 52.07, 32.15 , 26.55 ตามลำดับ ได้รับยาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเป็นยา Apirin มากที่สุด ร้อยละ 60.16 รองลงมา คือยา Statin ร้อยละ 38.03 ใกล้เคียงกับยา ACE-Inhibitor ร้อยละ 35.59 ผลลัพธ์คุณภาพการดูแลรักษาด้านคลินิกในปี 2552 ที่บรรลุตามเกณฑ์ใน 6 ตัวชี้วัด พบว่าควบคุมระดับไขมันในเลือด LDL <100 mg/dl ได้มากที่สุดร้อยละ 39.53 รองลงมา TG <150 mg/dl , HbA1c < 7 % , HDL >40 mg/dl , BP <130/80 mmHg , FBS 90-130 mg/dl บรรลุเกณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 32.88 , 25.63 , 19.30 , 12.01 , 11.55 ตามลำดับ สรุปผลการศึกษา การประเมินการบริหารจัดการโรคเบาหวานในโรงพยาบาลชุมชน โดยการวิเคราะห์ข้อมูลฐานอิเล็กทรอนิกส์สามารถเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ตัวชี้วัดสะท้อนถึงระดับคุณภาพการให้บริการและสามารถประเมินผลลัพธ์คุณภาพด้านคลินิก เปรียบเทียบระหว่างโรงพยาบาลได้ ควรสนับสนุนให้โรงพยาบาลชุมชนมีระบบบริการเชิงรุกเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและมีระบบจัดการข้อมูลที่ต่อเนื่อง