บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้สารเสพติดของนักเรียนในโรงเรียนที่ประสบธรณีพิบัติภัย 2. เพื่อทราบความชุกของการใช้สารเสพติดของนักเรียนในโรงเรียนที่ประสบธรณีพิบัติภัย 3. เพื่อทราบทัศนคติของนักเรียนในโรงเรียนที่ประสบธรณีพิบัติภัยต่อพฤติกรรมการใช้สารเสพติด และการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ระเบียบวิธีวิจัย : โครงการวิจัยนี้เป็นรูปแบบ cross sectional survey โดยการใช้แบบสอบถาม โรงเรียน 5 โรงเรียนในอำเภอตะกั่วป่า วิเคราะห์ข้อมูล โดยโปรแกรม SPSS version 10.0 7 ในการวิเคราะห์ข้อมูล คำนวณค่าความถี่และร้อยละของข้อมูลต่างๆ ค่าเฉลี่ย Unpaired t-test และ Linear correlation เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลและศึกษาความสัมพันธ์
ผลการศึกษา : ทีมผู้วิจัยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในโรงเรียน 5 โรงเรียนในอำเภอตะกั่วป่า ในช่วงเดือนตุลาคม 2552 มีนักเรียน 2,716 คน จากนักเรียนทั้งหมด 3,092 คน(ร้อยละ 87.8) เข้าร่วมการวิจัย นักเรียนที่เข้าร่วมวิจัยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดยคิดเป็นนักเรียนหญิงร้อยละ 59.8 และเป็นนักเรียนชายร้อยละ 40.2 อายุของนักเรียนที่เข้าร่วมวิจัยมีตั้งแต่อายุต่ำสุด 12 ปี ถึงสูงสุด 21 ปี โดยมีอายุเฉลี่ย 14.8 (+ 1.9) ปี
ประวัติการใช้สารเสพติดใดๆ(รวมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และบุหรี่) พบว่าตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมานักเรียนร้อยละ 50.3 เคยใช้ยาเสพติดใดๆ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมานักเรียนร้อยละ 33.9 เคยใช้สารเสพติดใดๆ และในช่วง 30 วันที่ผ่านมานักเรียนร้อยละ 24.8 เคยใช้ยาเสพติดใดๆ
ประวัติการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา พบว่า นักเรียนร้อยละ 43.2 เคยดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา นักเรียนร้อยละ 30.1 เคยดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และในช่วง 30 วันที่ผ่านมา นักเรียนร้อยละ 17.5 เคยดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ประวัติการสูบบุหรี่ พบว่า ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา นักเรียนร้อยละ 21.7 เคยสูบบุหรี่ และในช่วง 30 วันที่ผ่านมา นักเรียนร้อยละ 12.0 เคยสูบบุหรี่
ประวัติการใช้ยาเสพติด(ไม่รวมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และบุหรี่) ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา นักเรียนร้อยละ 22.1 เคยใช้ยาเสพติด ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา นักเรียนร้อยละ 13.7 เคยใช้ยาเสพติด และในช่วง 30 วันที่ผ่านมา นักเรียนร้อยละ 8.9 เคยใช้ยาเสพติด
นักเรียนมีแนวโน้มจะใช้สารเสพติดใดๆ สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และใช้สารเสพติดเพิ่มสูงขึ้นตามชั้นปีการศึกษาที่เพิ่มขึ้น
ความสัมพันธ์ของการใช้สารเสพติดกับปัจจัยต่างๆ พบว่า 1. การขาดเรียนเพราะการโดดเรียน มีความสัมพันธ์กับการใช้สารเสพติดทุกชนิดของนักเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2. การมีประวัติการใช้สารเสพติดในพี่น้อง หรือเพื่อนมีความสัมพันธ์กับการใช้สารเสพติด 3. การศึกษาของพ่อและแม่มีความสัมพันธ์กับการใช้ยาบ้า/ยาม้าของนักเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเพียงสารเดียว แต่ไม่พบว่า มีความสัมพันธ์กับการใช้สารเสพติดอื่นๆ
สรุปผลการวิจัย : ปัญหาการใช้สารเสพติดยังเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในนักเรียน ซึ่งจะพบการใช้สารเสพติดเพิ่มสูงขึ้นตามชั้นปีการศึกษาที่เพิ่มขึ้น โดยช่วงชั้นมัธยมศึกษาปี่ที่ 2 เป็นปีที่มีการใช้สารเสพติดเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการใช้สารเสพติดในนักเรียน คือ การมีประวัติโดดเรียน การมีประวัติการใช้ยาเสพติดในพี่น้องและเพื่อน ส่วนระดับการศึกษาของบิดาและมารดามีผลกับการใช้ยาบ้าในนักเรียน