บทคัดย่อ
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ได้ริเริ่มดำเนินงานโครงการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีโดยการพัฒนาองค์ความรู้ และกระบวนการเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติงานและร่วมกันจัดกิจกรรมในชุมชน มีโครงการทั้งสิ้น 5 โครงการที่ได้ดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากคณะอนุกรรมการกำกับการขับเคลื่อนการปฏิบัติการป้องกันโรคเอดส์และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี2551 คณะทำงานฯ ได้จัดการวิจัยประเมินผลโครงการทั้ง 5 โครงการนี้ในช่วงปี2553 โดยมีข้อค้นพบและข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1. โครงการที่ได้รับการประเมินผล ได้แก่ 1.1 โครงการรหัส 51-052 โครงการส่งเสริมศักยภาพองค์กรชุมชนในการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอชไอวี/เอดส์ในชุมชนภาคเหนือตอนบน 1.2 โครงการรหัส 51-053 โครงการปฎิบัติการรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์จังหวัดอุบลราชธานี 1.3 โครงการรหัส 51-057 โครงการเสริมสร้างเครือข่ายการทำงานป้องกันโรคเอดส์สู่องค์กรชุมชน 1.4 โครงการรหัส 51-062 โครงการพัฒนาศักยภาพคนทำงานด้านเอดส์ประเทศไทย 1.5 โครงการรหัส 51-073 โครงการสื่อสารเรื่องสิทธิทางเพศเพื่อการป้องกันเอดส์ในกลุ่มผู้ติดเชื้อและชุมชน 2. วัตถุประสงค์ของการวิจัยประเมินผล เพื่อประเมินผลการดำเนินงานของโครงการกลุ่มองค์กรและกลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อ และเพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้จากการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงวิชาการและ/หรือนโยบาย รวมทั้งเพื่อให้ได้ข้อบ่งชี้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติหรือกลวิธีในการป้องกันโรคเอดส์โดยการดำเนินงานของกลุ่มเครือข่ายองค์กรและกลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อ คณะทำงานฯ ได้จัดเก็บข้อมูลด้วยวิธีเชิงปริมาณและคุณภาพ ประกอบด้วยวิธีทบทวนเอกสาร การสุ่มเลือกพื้นที่และจัดการอภิปรายกลุ่มในกลุ่มแกนนำเครือข่ายในชุมชน ตลอดจนการเก็บข้อมูลด้วยการตอบแบบสอบถามของแกนนำในพื้นที่ และการตอบแบบสอบถามโดยกลุ่มเป้าหมาย โดยมีเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามผู้ดำเนินโครงการ/ผู้รับทุน แบบสอบถามความรู้และทัศนคติสำหรับผู้มีส่วนร่วมในโครงการ แบบสอบถามสำหรับกลุ่มเป้าหมายเรื่อง ความรู้ ความตระหนัก ทักษะ การประเมินความเสี่ยง และพฤติกรรมการป้องกันโรคเอดส์และแบบสัมภาษณ์ผู้มีส่วนร่วมในโครงการ 3. ผลการวิจัยประเมินผล พบข้อมูลที่สำคัญ ดังนี้ - แกนนำที่ได้รับการพัฒนาโดยโครงการทั้ง 5 โครงการ มีจำนวนทั้งหมด 1,456 คน มีการสร้างทีมหนุนเสริมระดับจังหวัด กลุ่มเป้าหมายที่ได้ประโยชน์ด้านการป้องกันเอดส์โดยตรงที่พบว่าเหมือนกันทุกโครงการ คือ แกนนำกลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีและแกนนำเครือข่ายอื่นๆในชุมชน - วัตถุประสงค์โครงการส่วนใหญ่มุ่งเน้นเพื่อเพิ่มบทบาทผู้ติดเชื้อ แกนนำเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายอื่นๆ ในชุมชน ในการทำงานด้านการพัฒนาและแก้ปัญหาสุขภาพชุมชนโดยเชิญชวนภาคส่วนต่างๆในชุมชนเข้ามาร่วมดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแม่บ้าน อสม. ผู้นำชุมชน ฯลฯ มาร่วมกันทำแผนพัฒนาสุขภาพร่วมกัน มุ่งเน้นให้เกิดความยั่งยืนของโครงการในท้องถิ่น - การประเมินความตระหนักและความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเอดส์ของแกนนำพบว่าแกนนำผู้ติดเชื้อ และแกนนำในการดำเนินโครงการในพื้นที่ เป็นกลุ่มที่มีความรู้ที่ถูกต้องในสัดส่วนที่สูง โดยตอบคำถามเพื่อวัดระดับความรู้ตามตัวชี้วัด UNGASS ถูกต้องทั้ง 5 ข้อ คิดเป็นร้อยละ 61.4 สำหรับการประเมินความรู้ในกลุ่มนักเรียน พบว่า กลุ่มนักเรียนที่เป็นแกนนำสามารถตอบความรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ถูกทั้งหมด 5 ข้อ ตามตัวชี้วัด UNGASS ร้อยละ 17.9 และกลุ่มที่ไม่ได้เป็นแกนนำตอบถูกทั้งหมด 5 ข้อ ร้อยละ 15.7 - นวัตกรรมที่สำคัญที่เกิดขึ้น ได้แก่ การสร้างเครือข่ายการทำงานเอดส์ในชุมชน ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานและกลุ่มเครือข่ายต่างๆ เช่น อปท. โรงพยาบาล โรงเรียน องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายผู้ติดเชื้อ แกนนำชุมชน อสม. และเยาวชน โดยบูรณาการงานเอดส์เข้ากับงานสุขภาพทั่วไป เกิดทัศนคติที่ดีของชุมชนต่องานเอดส์ การพัฒนานวัตกรรมนี้ มีเครือข่ายผู้ติดเชื้อเป็นแกนหลักในการทำงาน บางโครงการมีทีมหนุนเสริมจากระดับภาคและจังหวัดเข้ามาร่วมติดตามให้ข้อเสนอแนะการทำงานในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ การส่งเสริมเรื่องสิทธิทางเพศเป็นเรื่องใหม่สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อ และกลุ่มอื่นๆ ในชุมชน มีกิจกรรมให้เกิดการพูดคุยระหว่างกลุ่มเยาวชนและสมาชิกในครอบครัว เช่น เรื่องเพศ เรื่องปัญหาครอบครัว ทำให้สมาชิกในครอบครัวมีการสื่อสารและกล้าเปิดเผยหรือเล่าปัญหาระหว่างกันมากขึ้น เรียกว่าเป็นการพูดคุยกันในพื้นที่ปลอดภัย - ข้อค้นพบที่สำคัญที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของโครงการ ได้แก่ แกนนำผู้ติดเชื้อที่ทำงานเรื่องการป้องกันเอดส์และแผนสุขภาพชุมชนอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ และมีแกนนำที่มาจากเครือข่ายต่างๆ ในชุมชนเข้ามาร่วมกันทำงาน มีการพัฒนาแผนการทำงานป้องกันเอดส์ที่บูรณาการกับปัญหาสุขภาพของชุมชน เสนอเข้าเป็นแผนกองทุนสุขภาพระดับตำบลและแผน อบต. มีข้อน่าสังเกตว่า พื้นที่ที่มีสมาชิก อบต. เข้าร่วมเป็นเครือข่ายการดำเนินงานของโครงการ จะทำให้เกิดโอกาสในการเข้าถึงแผนกองทุนสุขภาพระดับตำบลและแผนอบต. ได้ - ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเข้มแข็งของเครือข่ายที่ได้รับการพัฒนาขึ้นพบว่า โครงการทั้งหมดมีระบบการประสานงานและการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง โดยเครือข่ายหลักที่เป็นผู้ดำเนินโครงการมีระบบงานที่ชัดเจนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในบางโครงการยังขาดการดำเนินงานของทีมหนุนเสริม และพบว่าในบางโครงการยังมีช่องว่างในการสื่อสารภายในระหว่างผู้ดำเนินงานโครงการกับแกนนำเครือข่ายในพื้นที่อยู่บ้าง และอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ