บทคัดย่อ
งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามว่า การเพิ่มสิทธิประโยชนืสำหรับการรักษาทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือการล้างช่องท้องอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ประกันตนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมีความคุ้มค่าหรือไม่ เพียงใด โดยใช้การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตรืชนิดการประเมินต้นทุนประสิทธิผลและต้นทุนอรรถประโยชน์ของการรักษาทดแทนไตทั้งสองประเภทเปรียบเทียบกับการรักษาแบบประคับประคองซึ่งเป็นวิธีการรักษาในปัจจุบันที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยการศึกษาเป็นการเปรียบเทียบภายใต้บริบทของประเทศไทยและใช้มุมมองในทางสังคมร่วมกับมุมมองของรัฐบาลในฐานะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
วิธีการศึกษาประกอบด้วยการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาทดแทนไตในประเทศไทยในระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2546 เพื่อสร้างแบบจำลองที่เรียกว่า “Markov chain model” สำหรับการประมาณต้นทุนและประสิทธิผลของทางเลือกแต่ละประเภท
ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนตลอดชีวิตในมุมมองของสังคมสำหรับการล้างช่องท้องอย่างต่อเนื่องและการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเท่ากับ 3.3 และ 3.7 ล้านบาทสำหรับผู้ป่วยที่เริ่มรักษาเมื่ออายุ 70 ปี ทั้งนี้ต้นทุนของการล้างช่องท้องอย่างต่อเนื่องต่ำกว่าต้นทุนการฟอกเลือดในทุกกลุ่มอายุ และเมื่อนำมาคำนวณต้นทุนประสิทธิผลและต้นทุนอรรถประโยชน์พบว่า การรักษาด้วยการล้างช่องท้องอย่างต่อเนื่องมีต้นทุนประสิทธิผลและต้นทุนอรรถประโยชน์ (ระหว่าง 4.4 – 4.9 แสนบาทต่อปีของชีวิตที่ยืนยาวขึ้นหรือ 6.3 – 6.9 แสนบาทต่อปีที่ปรับด้วยคุณภาพชีวิต) ซึ่งดีกว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (มีตนทุนระหว่าง 4.5 – 5.0 แสนบาทต่อปีของชีวิตที่ยืนยาวขึ้นหรือ 6.7 – 7.5 แสนบาทต่อปีที่ปรับด้วยคุณภาพชีวิต) ในทุกกลุ่มอายุ โดยการให้การรักษาทดแทนไตทั้งสองชนิดในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่าต้นทุนประสิทธิผลและต้นทุนอรรถประโยชน์ดีกว่าการให้การรักษากับผู้ป่วยที่มีอายุมาก