บทคัดย่อ
รายงานฉบับนี้เป็นการติดตามสมรรถนะและสัมฤทธิผลของการดำเนินงานในระบบบริการสาธารณสุขและการคลังสุขภาพของสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2553 โดยทำการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลทุติยภูมิสำคัญที่มีอยู่แล้ว คือฐานข้อมูลอิเลคทรอนิคส์ผู้ป่วยในของผู้ป่วยในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลตามตัวชี้วัด ในแต่ละช่วงเวลา อาศัยกรอบแนวคิดและเครื่องชี้วัดเพื่อการติดตามประเมินระบบการคลังสุขภาพและระบบบริการสุขภาพ ที่ได้จากการประชุมระดมสมองและกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในลักษณะของคณะทำงานที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข องค์กรประกันสุขภาพ นักวิชาการ โดยคัดเลือกเฉพาะตัวชี้วัดสำคัญที่มีความไวพอที่จะสะท้อนสถานการณ์ของระบบบริการได้อย่างชัดเจน ทั้งสมรรถนะและคุณภาพของระบบบริการปฐมภูมิ บริการรักษาแบบผู้ป่วยใน การวิเคราะห์มีข้อค้นพบดังต่อไปนี้
(1) อัตราตายมาตรฐานโรงพยาบาล (Hospital standardized mortality ratio, HSMR) ในไตรมาส 4 พบว่าโรงพยาบาลที่มีค่านี้สูง คือ โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)/ทั่วไป (รพท.) ที่อยู่ในเขต 1 และ 2 โดยมีประมาณครึ่งหนึ่ง เช่นเดียวกับโรงพยาบาลชุมชน จำนวนประมาณครึ่งหนึ่งที่พบว่ามีค่านี้สูงอยู่ในเขต 1 (จังหวัดปทุมธานี), เขต 2 (จังหวัดลพบุรี และชัยนาท), เขต 5 (จังหวัดประจวบ คีรีขันธ์) และเขต 15 (จังหวัดเชียงใหม่) ส่วนโรงพยาบาลชุมชนในเขต 3 (จังหวัดสมุทรปราการ), เขต 4 (จังหวัดสุพรรณบุรี), เขต 10 (จังหวัดหนองบัวลำภู), และเขต 18 (จังหวัดนครสวรรค์ และพิจิตร) มีค่านี้สูงเป็นส่วนใหญ่
(2) อัตราการนอนโรงพยาบาลของโรคที่ควรควบคุมได้ด้วยบริการแบบผู้ป่วยนอก (Ambulatory care sensitive case, ACSC) ซึ่งหากมีอัตราสูงจะสะท้อนถึงปัญหาคุณภาพของบริการปฐมภูมิ ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีอาการมากหรือควบคุมไม่ได้จนต้องเข้านอนรักษาในโรงพยาบาล โดยในไตรมาส 4 นี้ โรงพยาบาลที่มีค่า ACSC สูง ส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ในเขต 1, 2, 3, และ 6 และอีกประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ในเขต 5 สำหรับโรงพยาบาลชุมชนที่มีค่านี้สูงเป็นส่วนใหญ่จะอยู่ในเขต 1 (จังหวัดสระบุรี) เขต 2 (จังหวัด อ่างทอง, ลพบุรี และสิงห์บุรี) เขต 3 (จังหวัดฉะเชิงเทรา) เขต 6 (ทุกจังหวัด) เขต 7 (จังหวัดตรัง) เขต 8 (ทุกจังหวัด) เขต 9 (จังหวัดชลบุรี และระยอง) เขต 14 (จังหวัดนครราชสีมา) เขต 15 (จังหวัดลำปาง และแม่ฮ่องสอน) เขต 18 (จังหวัดอุทัยธานี และกำแพงเพชร) ส่วนใน เขต 4 (จังหวัดกาญจนบุรี, สุพรรณบุรี และนครปฐม) เขต 5 (ทุกจังหวัด) เขต 9 (จังหวัดจันทบุรี และตราด) เขต 13 (จังหวัดยโสธร) เขต 15 (จังหวัดเชียงใหม่) เขต 16 (จังหวัดน่าน และเชียงราย) และ เขต 17 (จังหวัดอุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์) ประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน(3) ค่ามัธยฐานของค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ของกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (relative weight; rw) ซึ่งแสดงความซับซ้อนของโรคที่รับไว้เป็นผู้ป่วยใน พบว่าในไตรมาส 4 ของปี 2553 โรงพยาบาล ทุกระดับในทุกเขตมีค่าเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
(4) ค่ามัธยฐานค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ที่ปรับตามค่าวันนอนจริงของกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (adjusted relative weight; adjusted rw) ซึ่งแสดงทรัพยากรที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยใน ในโรงพยาบาลทุกระดับของทุกเขต ในไตรมาส 4 ปี 2553 มีค่าเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเช่นกัน
(5) ค่ามัธยฐานจำนวนวันนอนโรงพยาบาล ของการให้บริการผู้ป่วยในของโรงพยาบาลแต่ละระดับมีค่าคงที่ ในทุกช่วงเวลา