บทคัดย่อ
รายงานฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาข้อเสนอในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การทำงานของคณะทำงานวิชาการหลักเพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ โดยมีการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ประมวลสถานการณ์การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิของไทยที่ผ่านมา วิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิและประชุมระดมความคิดเห็นในกลุ่มนักวิชาการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขในฐานะบทบาทของการเป็นเจ้าของและผูดูแลระบบบริการสาธารณสุข โดยรวมของประเทศจำเป็นต้องมีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานทั้งในด้านจำนวนบุคลากร ลักษณะและศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพระบบบริการและการโยกภารกิจระหว่างบุคลากรภายในเครือข่ายภายใต้บริบทข้อจำกัดด้านบุคลากร ทั้งนี้บทบาทดังกล่าวจะยิ่งทวีความสำคัญขึ้นหากมีการถ่ายโอนหน่วยบริการสาธารณสุขปฐมภูมิไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและกระทรวงสาธารณสุขต้องปรับบทบาทมาทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและกำกับ ระบบบริการ ดังนั้นคณะทำงานฯ จึงมีข้อเสนอแก่กระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิดังนี้ 1. ให้มีการจัดตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิใน กระทรวงสาธารณสุขเพื่อ (1) พัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ร่วมกับหน่วยงานอื่น (2) วางแผนการลงทุนเพื่อการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิทั้งด้านโครงสร้างและกำลังคน (3) บริหารยุทธศาสตร์และสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ และ (4) กำหนดตัวชี้วัดในการติดตามประเมินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 2. ให้มีการจัดตั้งหน่วยบริหารจัดการการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิในระดับเขต/จังหวัด เพื่อ (1) บริหารจัดการส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิอย่างเป็นระบบและทั่วถึง (2) เพื่อให้เกิดการกระจายของทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนในการบริการสุขภาพที่ซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีระดับสูง (3) เพื่อประสานการจัดการระบบสุขภาพและบริการสุขภาพร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อปท. และเครือข่ายบริการในพื้นที่ (4) เพื่อกำกับติดตามการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของเครือข่ายต่างๆ 3. ให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิในระดับอำเภอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ให้มีงบประมาณที่ชัดเจนเพื่อการจัดบริการปฐมภูมิที่ชัดเจน เป็นอิสระ ยืดหยุ่น และสามารถติดตามประเมินในภาพรวม (2) เพื่อให้มีหน่วยบริหารจัดการเพื่อการวางแผนและพัฒนาบริการปฐมภูมิในระดับอำเภอแบบองค์รวม และตอบสนองความต้องการของชุมชนและปัญหาสุขภาพของพื้นที่ และระดมความร่วมมือจากท้องถิ่นและชุมชนและ (3) เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลได้รับโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาคกัน ทั้งในระดับปฐมภูมิและระดับที่สูงกว่า ทั้งนี้การบริหารจัดการให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนที่มีตัวแทนจากทั้งหน่วยบริการ (โรงพยาบาลสาธารณสุขอำเภอ สถานีอนามัย) ตัวแทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนภาคชุมชน ทั้งนี้อาจขยายบทบาทของคณะกรรมการบริหารเครือข่ายที่มีอยู่ให้มีองค์ประกอบและบทบาทหน้าที่ตามที่กำหนด 4. ให้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายและแผนการกระจายกำลังคนสำหรับระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิในพื้นที่ชนบทที่เป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการกำหนดและบรรจุตำแหน่ง รวมถึงสนับสนุนให้ CUP /กองทุนพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิสนับสนุนงบประมาณในการจัดจ้างบุคลากรสาธารณสุขสายวิชาชีพต่างๆ รวมถึงบุคลากรฝ่ายสนับสนุน เพื่อให้สามารถจัดบริการแก่ประชาชนได้ดีขึ้น และให้ CUP/ กองทุนฯ จัดสวัสดิการสำหรับบุคลากรที่มิได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการให้มีขวัญกำลังใจและธำรงอยู่ในระบบ ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขควรสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง CUP ในการบริหารจัดการบุคลากรแนวใหม่