บทคัดย่อ
ยาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของระบบบริการสุขภาพ และเป็นองค์ประกอบที่มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายและสุขภาพประชาชนอย่างมาก หากระบบยาขาดการออกแบบอย่างเหมาะสมและมีการจัดการที่ดีระบบยาของประเทศไทยเริ่มสะท้อนให้เห็นปัญหา ผ่านค่าใช้จ่ายที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านยาต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงมากกว่าร้อยละ 30 ซึ่งสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชาชนจำนวนมากบริโภคยาเกินความจำเป็นและก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ขณะที่ประชาชนอีกจำนวนหนึ่งไม่สามารถได้รับยาแม้จะมีความจำเป็นเพราะยามีราคาแพง ยาจำนวนหนึ่งในท้องตลาดยังมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะกลไกควบคุมกำกับยังไม่เข้มแข็งพอ ฯลฯ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาระบบยาอย่างเป็นระบบมาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการผ่านการสร้างความรู้และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ด้วยการมีส่วนร่วมของภาคีภาคส่วนต่างๆ แต่ความซับซ้อนของระบบยา ทำให้กระบวนการสร้างความรู้ต้องการนักวิชาการสหสาขาที่สนใจและทำงานอย่างต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน สวรส. จึงได้ผลักดันให้มีการรวมกลุ่มของนักวิชาการที่สนใจ เพื่อจัดตั้งเป็นเครือข่ายวิจัยระบบยาขึ้น โดยมีการประชุมหารือกันครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2552 เพื่อกำหนดประเด็นวิจัยที่สำคัญและพัฒนาแนวทางการทำงานร่วมกัน หลังจากนั้นสวรส. ได้สนับสนุนนักวิชาการที่สนใจทำงานวิจัยในประเด็นดังกล่าว โดยประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานผู้กำหนดนโยบายซึ่งจะเป็นผู้ใช้ผลงานวิจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ผลจากการเชื่อมโยงดังกล่าวทำให้นักวิชาการจำนวนหนึ่งได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการเชื่อมโยงความรู้สู่การพัฒนานโยบาย และเข้าใจกระบวนการนโยบายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เครือข่ายวิจัยระบบยา มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ของนักวิจัยที่ได้ร่วมงานวิจัยและผลักดันนโยบายในช่วงที่ผ่านมา สวรส. จึงได้จัดให้มีการประชุมเครือข่ายวิจัยระบบยา ครั้งที่ 2 ขึ้นในระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม 2554 ซึ่งนอกจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะได้ทบทวนวิสัยทัศน์และพันธกิจของเครือข่ายวิจัยระบบยาด้วยเอกสารฉบับนี้ รวบรวมสาระสำคัญที่ได้จากการประชุมเครือข่ายวิจัยระบบยาครั้งที่ 2 ซึ่งมีทั้งคำบรรยายของผู้ทรงคุณวุฒิการอภิปรายกลุ่มของวิทยากรจากภาคส่วนต่างๆ และสรุปผลการประชุมกลุ่มย่อย สวรส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เอกสารฉบับนี้จะมีส่วนช่วยเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งเป็นการสรุปบทเรียนการทำงานของเครือข่ายวิจัยระบบยาที่ผ่านมา บทเรียนที่จะทำให้จังหวะก้าวต่อของเครือข่ายเป็นไปอย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ภาวะผู้นำและการอภิบาล (Leadership and Governance)