บทคัดย่อ
งานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ครอบคลุมประชากรไทยร้อยละ 75 แต่ได้รับงบประมาณอุดหนุนอัตราเหมาจ่ายรายหัวที่จำกัดต่ำกว่าข้อเท็จจริงของอัตราการใช้และต้นทุนบริการ และมีปัญหาความยั่งยืนทางการเงินระยะยาวของงานนี้ การศึกษานี้วิเคราะห์และเสนอแนวทางการปฏิรูปการเงินการคลังของงานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดำเนินการศึกษาระหว่างเดือนมกราคม ถึง ธันวาคม 2547 โดยการประมาณการรายจ่ายสุขภาพระยะยาวของประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2547 – 2563 โดยใช้แบบจำลองสี่แบบ เพื่อคาดคะเนด้านประชากรและแรงงาน ด้านเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และงบประมาณของรัฐบาล โดยใช้ฐานข้อมูลประชากรและเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถิติแรงงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ บัญชีรายจ่ายสุขภาพแห่งชาติของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ข้อมูลงบประมาณประจำปีของกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ อาศัยสมมติฐานต่าง ๆ ที่คาดว่าน่าจะเป็น พร้อมทั้งการสร้างฉากทัศน์ทั้งการลดรายจ่าย และ/หรือการเพิ่มงบประมาณที่แน่นอนของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
พบว่า รายจ่ายสุขภาพทั้งประเทศ เท่ากับร้อยละ 3.50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในปี 2547 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.64 และ 388 ในปี 2553 และ 2563 ตามลำดับ ฉากทัศน์ที่ 1 กำหนดให้มีรายได้เฉพาะที่แน่นอนจากการเก็บภาษีสุขภาพ (personal health tax) การปรับเพิ่มภาษีบุหรี่ สุรา และเบียร์แล้วกันเงินภาษีส่วนหนึ่งให้แก่งานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการประจำ (earmarked sin tax) ทำให้ต้องการเงินอุดหนุนจากงบประมาณประจำปีของรัฐลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสภาพปัจจุบัน ฉากทัศน์ที่ 2 กำหนดให้จำนวนผู้มีสิทธิประโยชน์ลดลง โดยการขยายความคุ้มครองประกันสังคมไปสู่คู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตน ทำให้รายจ่ายลดลง 9,210 ล้านบาทในปี 2548 ฉากทัศน์ที่ 3 เป็นการควบรวมฉากทัศน์ที่ 1 และ 2 ทำให้มีการลดรายจ่าย (โดยการขยายการคุ้มครองของประกันสังคม) พร้อมกับการเพิ่มรายรับที่แน่นอน ทำให้เกือบไม่มีความต้องการเงินอุดหนุนจากงบประมาณประจำปีเลย
ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการปฏิรูปการเงินการคลังหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีความยั่งยืน และมีความเป็นไปได้ มี 3 มาตรการ มาตรการที่หนึ่ง การตัดโอนภาษีสรรพสามิตที่รัฐจัดเก็บได้มาให้เป็นการประจำตามจำนวนที่กำหนดไว้ โดยไม่ต้องปรับเพิ่มภาษี หรืออาจจะปรับเพิ่มภาษี ซึ่งทำให้สามารถจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ มาตรการที่สอง การลดรายจ่ายโดยให้ระบบประกันสังคมขยายการคุ้มครองไปสู่คู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตน ซึ่งอาจกระทำได้โดยไม่ต้องปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบจากผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล มรตรการที่สาม ปฏิรูปพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยมอบให้กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เป็นผู้จัดเก็บเบี้ยประกันภัย พร้อมกับการเก็บภาษีประจำปีจากเจ้าของรถตามกฎหมาย หรือขณะทำการจดทะเบียนรถใหม่ ทำให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้เต็มที่และคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทุกรายไม่ว่าเกิดจากรถที่มีหรือไม่มีประกันตามกฎหมาย การบริหารจัดการการเงินจึงจะเป็นไปตามเจตนารมณ์มากขึ้น