บทคัดย่อ
ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับนโยบายและแนวทางดำเนินมาตรการส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุสมผลและมาตรการควบคุมกำกับรายจ่ายด้านยาของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยกรมบัญชีกลางได้ขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลที่เป็นผู้ให้บริการผู้ป่วยนอกรายใหญ่ ซึ่งมีจำนวนครั้งผู้ป่วยนอกตั้งแต่ 100,000 ครั้ง/ปี ขึ้นไปเพื่อเป็นโรงพยาบาลนำร่อง และกำหนดกลุ่มยาเป้าหมาย รวม 9 กลุ่ม ในการดำเนินมาตรการด้านยาดังกล่าว ในปีงบประมาณพ.ศ.2552 ซึ่งเป็นช่วงก่อนดำเนินมาตรการด้านยา สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ได้รับมอบหมายให้ทำการสำรวจสถานการณ์ข้อมูลการสั่งใช้ยาของโรงพยาบาลนำร่อง 34 แห่ง ครั้งแรก พบว่าโรงพยาบาลดังกล่าวมีมูลค่าและจำนวนครั้งในการสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ในสัดส่วนที่สูง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ร้อยละ 66 ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ.2553 สวปก.ได้ทำการสำรวจข้อมูลการสั่งใช้ยาในโรงพยาบาลนำร่อง ครั้งที่ 2ในช่วงเป็นช่วงปีแรกหลังจากโรงพยาบาลนำร่องเริ่มดำเนินมาตรการด้านยา ผลวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า มูลค่าและจำนวนครั้งการสั่งใช้ยานนอกบัญชียาหลักของโรงพยาบาลนำร่องส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง และในปีงบประมาณ พ.ศ.2554 สวปก.จึงได้ทำการสำรวจข้อมูลการสั่งใช้ยาในโรงพยาบาลนำร่อง ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงปีที่สองหลังจากมีนโยบายขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลนำร่องดำเนินมาตรการด้านยา ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ.2554 (ตุลาคม 2553-มีนาคม 2554) โดย สวปก.ได้ปรับปรุงขั้นตอนวิธีการศึกษา ในปี 2554 โดยเฉพาะขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพข้อมูล ให้ครอบคลุมและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ผลการวิเคราะห์แนวโน้มการสั่งใช้ยาผู้ป่วยนอกของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลนำร่องในปีงบประมาณ พ.ศ.2554 พบว่ามีแนวโน้มมูลค่าและจำนวนครั้งในการสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติลดลง โดยมีมูลค่ายานอกบัญชียาหลักฯ เฉลี่ยร้อยละ 64.40 เมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ.2552-2553 ที่มีมูลค่ายานอกบัญชีหลักฯ เฉลี่ยเท่ากับ ร้อยละ 66 และร้อยละ 65.1 ตามลำดับ โดยโรงพยาบาลสังกัดกลาโหม/ตำรวจ/เอกชน และสังกัดมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มลดลงในทิศทางเดียวกัน สำหรับโรงพยาบาลนำร่องสังกัดกระทรวงสาธารณสุข บางส่วนจะมีมูลค่าและจำนวนครั้งเฉลี่ยลดลง แต่ก็มีบางโรงพยาบาลที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อคำนวณข้อมูลค่ายาที่คาดว่าโรงพยาบาลนำร่องจะสามารถประหยัดได้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2554 ถ้าหากมีการดำเนินมาตรการควบคุมรายจ่ายค่ายาทั้ง 3 มาตรการได้ผล จะมีมูลค่ายาที่ประหยัดได้รวมทั้งสิ้น 1,191,139,471 บาท ปัญหาอุปสรรคสำคัญในการดำเนินงานของโรงพยาบาลนำร่อง คือ มีช่องว่างในการสื่อสารการดำเนินงานตามนโยบายระหว่างกรมบัญชีกลางกับหน่วยงานต้นสังกัดของโรงพยาบาลนำร่องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการส่งเสริมและสนับสนุนให้สั่งใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติและระบบการประกันคุณภาพ ยาสามัญที่จะนำมาใช้ในมาตรการทดแทนยาต้นแบบ การขาดงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาล และมีช่องว่างในการสื่อสารนโยบายและข้อมูลเชิงวิชาการระหว่าง กรมบัญชีกลางและองค์กรวิชาชีพกับแพทย์ผู้ให้การรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลางขาดกลไกการ รวมทั้งขาดกลไกติดตามกำกับให้มีการดำเนินงานตามคู่มือแนวทางการรักษาพยาบาลและหลักเกณฑ์/เงื่อนไข ข้อบ่งชี้ในการสั่งใช้ยาที่กำหนดโดยองค์กรวิชาชีพอย่างเป็นระบบและตรวจสอบได้ สำหรับข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการดำเนินงานมีทั้งส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมบัญชีกลางและส่วนที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ ซึ่งต้องอาศัยการประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างกรมบัญชีกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง