บทคัดย่อ
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 แม้ว่าจะเป็นการประกันภาคบังคับ บริษัทประกันวินาศภัยที่มุ่งกำไรเป็นผู้บริหารโครงการนี้ทั้งหมด กฎหมายนี้ให้การคุ้มครองโดยจ่ายสินไหมทดแทนกรณีรักษาพยาบาลไม่เกินเพดานที่กำหนด และเหมาจ่ายกรณีการตายและทุพพลภาพ รายงานปี 2545 แสดงให้เห็นว่า สามารถเก็บเบี้ยประกันได้ 7,003 ล้านบาท โดยมีรายจ่ายเพื่อการบริหารสูงถึงร้อยละ 41 รายจ่ายสินไหมทดแทนร้อยละ 52 นอกจากนี้กฏหมายไม่สามารถคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทุกคนได้ เมื่อประเทศไทยบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว มีความจำเป็นต้องทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายและแนวทางการปฏิรูปต่อไป ดำเนินการศึกษาระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงธันวาคม 2546 จากข้อมูลทุติยภูมิสี่ชุดหลัก ได้แก่ ข้อมูลต้นทุนการบริการของโรงพยาบาล ข้อมูลผู้ป่วยในกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน และข้อมูลประมาณการใช้น้ำมันทั่วประเทศ รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากการสอบถามผู้สันทัดกรณี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประมาณการความต้องการงบประมาณในการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทุกคน (ไม่ว่าประสบภัยจากรถที่มีหรือไม่มีประกันตามกฎหมาย) และเสนออัตราภาษีน้ำมันเพิ่มเพื่อให้ได้เงินเพียงพอในการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทุกคน และนำเสนอแนวทางการปฏิรูป
การศึกษาพบว่า เพื่อคุ้มครองผู้ประสบภัยทุกคน ต้องการงบประมาณ 7,158 ล้านบาทในปี 2545 เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยในร้อยละ 63 การรักษาก่อนถึงโรงพยาบาลร้อยละ 16 กรณีตายร้อยละ 15 กรณีรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกร้อยละ 5 และกรณีทุพพลภาพร้อยละ 1
อาศัยฐานข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2545 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า จะต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นลิตรละ 32 สตางค์ เพื่อให้ได้เงินทั้งสิ้น 7,158 ล้านบาทสำหรับการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทุกคน แต่ภาษีที่เพิ่มขึ้นจะเป็นภาระต่อครัวเรือนที่จนที่สุดมากกว่าครัวเรือนที่รวยที่สุด จึงไม่เป็นธรรม
การปฏิรูปควรบรรลุเป้าหมายหลัก 2 ประการคือ ให้การคุ้มครองผู้ประสบภัยทุกคน และต้นทุนในการบริหารจัดการต่ำ ผู้วิจัยเสนอ 3 ทางเลือกจำแนกตามที่มาของเงิน ทางเลือกที่ 1 อาศัยเบี้ยประกันตาม พ.ร.บ. ทางเลือกที่ 2 อาศัยภาษีทั่วไป และทางเลือกที่ 3 อาศัยภาษีน้ำมัน เฉพาะทางเลือกที่ 2 และ 3 มีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากมีเบี้ยประกันตาม พ.ร.บ. อยู่แล้ว ไม่น่าจะเป็นภาวะวิกฤตน้ำมันทางเลือกที่ 3 ไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับได้
ภายใต้ทางเลือกที่ 1 ผู้วิจัยเสนอว่าการปฏิรูปใหญ่ โดยให้กรมขนส่งทางบกเก็บเบี้ยประกันในขณะที่เจ้าของรถชำระภาษีรถยนต์ประจำปี โดยจัดงบประมาณบางส่วนจากเบี้ยประกันฯ เพื่อการบริหารจัดเก็บโดยกรมการขนส่งทางบก เบี้ยประกันที่เหลือส่งให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้จ่ายกรณีเจ็บป่วย ตายและทุพพลภาพ ทางเลือกการปฏิรูปเล็กน้อย ก็อาจจะเป็นที่ยอมรับได้ เนื่องจากสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ด้านคือ ต้นทุนบริหารจัดการต่ำ และให้การคุ้มครองผู้ประสบภัยทุกคน