บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประมาณการความต้องการงบประมาณสำหรับการขยายการเข้าถึงบริทดแทนไตให้กับผู้มีสิทธิ์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้เพื่อวิเคราะห์ภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นและความเป็นไปได้ของภาครัฐในการแบกรับภาระงบประมาณดังกล่าว หากรัฐมีนโยบายขยายการเข้าถึงบริการทดแทนไตอย่างถ้วนหน้า พร้อมทั้งเสนอแนะนโยบายที่รัฐควรดำเนินการควบคู่ไปกับการขยายการเข้าถึงบริการทดแทนไต
วิธีการศึกษาประกอบด้วยทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องภายในประเทศและต่างประเทศเกี่ยวกับอุบัติการณ์และความชุกผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ควรจะเป็น รวมทั้งต้นทุนในการให้บริการทดแทนไตในมุมมองของรัฐบาลโดยเฉพาะการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) และการล้างช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (CAPD) สำหรับผู้ป่วยแต่ละรายต่อปี ทั้งนี้เพื่อนำมาคำนวณภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การประมาณการพบว่า หากไม่มีการควบคุมต้นทุนในการให้บริการทดแทนไต และ/หรือ ไม่มีเกณฑ์ที่เหมาะสมในการคัดเลือกผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเพื่อเข้าสู่บริการทดแทนไตแล้ว รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลเป็นเงินกว่า 5,000 ล้านบาท ในปีแรกสำหรับการขยายการเข้าถึงบริการทดแทนไตให้กับผู้ป่วยทุกคนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และภาระงบประมาณนี้อาจจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นหลายหมื่นล้านบาท หรือมากกว่าหนึ่งในสามของงบประมาณสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในอีกสิบห้าปีภายหลังจากการครอบคลุมบริการทดแทนไตเข้าไปในชุดสิทธิประโยชน์
มาตรการในการควบคุมต้นทุนการให้บริการทดแทนไตและการลดอุบัติการณ์ของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังโดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่เป็นสาเหตุหลัก เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และมาตรการในการลดการบริโภคยต้านการอักเสบประเภท NSAIDs เป็นระยะเวลานาน รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมเพื่อเข้าสู่บริการทดแทนไตเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายขยายการเข้าถึงบริการทดแทนไตอย่างถ้วนหน้า