Abstract
การเก็บรักษาและขนส่งวัคซีนที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลให้เกิดการเสื่อมสภาพของวัคซีนได้ ฉะนั้น
การบริหารจัดการระบบวัคซีนจึงต้องการระบบห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ที่ดี เพื่อเป็นหลักประกันที่จะได้
ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ระบบห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ดั้งเดิมของการบริหารจัดการวัคซีนแห่งชาติมี
แนวโน้มด้อยประสิทธิภาพอันเนื่องมาจากมีขั้นตอนจำนวนมากในการกระจายวัคซีน ทำให้เกิดความ
สูญเสียอันเนื่องมาจากวัคซีนหมดอายุ จนกระทั่งเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ ได้เริ่มมีการนำระบบการบริหาร
คลังสินค้าโดยผู้ขาย (Vendor managed inventory; VMI) มาใช้ทดแทนระบบเดิม และขยายการ
ดำเนินงานไปทั่วประเทศในปลายปี ๒๕๕๓ วัตถุประสงค์ของระบบ VMI คือการทำให้การดำเนินงานห่วง
โซ่อุปทานมีความกระชับคล่องตัวมากขึ้นทั้งผู้จัดหาและลูกค้า ทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง
รวมทั้งการลดความสูญเสียของวัคซีน (vaccine wastage)
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ร่วมกับองค์กร PATH และองค์การอนามัยโลก จึงมอบหมายให้
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการโครงการวิจัยเพื่อให้เข้าใจระบบห่วงโซ่อุปทานของวัคซีน
ของประเทศมากขึ้น และได้แนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ วัตถุประสงค์เฉพาะได้แก่ การ
ประเมินผลการดำเนินงานของระบบ VMI เปรียบเทียบกับระบบเดิม รวมทั้งต้นทุน และข้อเสนอในการ
พัฒนาระบบ การศึกษานี้เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ ถึง กรกฎาคม ๒๕๕๔ ในพื้นที่ ๑๒
จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง สระบุรี ตราด กาญจนบุรี สุรินทร์ เลย อุบลราชธานี อุทัยธานี พิษณุโลก ลำพูน
พังงา และตรัง โดยใช้วิธีผสมระหว่างการวิจัยเอกสาร และ การวิจัยเชิงสำรวจซึ่งทำการสัมภาษณ์ทั้งระดับ
ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติ รวมทั้งการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์
การศึกษาครั้งนี้พบว่าการดำเนินงานระบบ VMI ประสบความสำเร็จ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบ
การจัดการวัคซีนประเมินว่าการเปลี่ยนผ่านจากระบบเดิมเป็นระบบ VMI เป็นไปอย่างน่าพอใจ ปัญหาที่
พบในช่วงแรกของระบบ VMI ได้รับการแก้ไขไปได้ด้วยดี เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการนำมาใช้ในระบบ
VMI อยู่ในระดับน่าพึงพอใจและสามารถพัฒนาให้ระบบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้
การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเปรียบเทียบระบบทั้งสอง พบว่า ระบบ VMI มีการใช้
ทรัพยากรอย่างประสิทธิภาพกว่าระบบเดิมจากการที่สามารถลดต้นทุน และลดปริมาณวัคซีนในระบบ
ประมาณหนึ่งในห้า ในปีแรกของการดำเนินงาน
จากผลการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่ามีปัจจัยหลายประการที่นำไปสู่ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลง
จากระบบเดิมไปสู่ระบบ VMI ของประเทศไทย การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้น มาจากปัญหาของระบบเดิม และ
ประสบการณ์ของการใช้ระบบ VMI ในการกระจายยาเอดส์โดยองค์การเภสัชกรรม การมีโครงสร้างระบบ
บริการสุขภาพและเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม รวมทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบาย ระบบ VMI ได้ทำให้
ระบบห่วงโซ่อุปทานสั้นลง ปรับปรุงการสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร
ด้านสารสนเทศ
แม้ว่าระบบ VMI จะประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ แต่ก็ยังมีประเด็นที่ท้าทายเหลืออยู่ ผู้มี
ส่วนเกี่ยวข้องได้เสนอข้อบกพร่องหลักของระบบ VMI สองประการ ประการแรกได้แก่ขาดการควบคุม
ขั้นตอนและแผนการการจัดหาวัคซีนขององค์การเภสัชกรรมในฐานะหน่วยงานที่ได้รับการว่าจ้าง ทำให้
เกิดปัญหาการขาดสต็อคของวัคซีนเจอี องค์การเภสัชกรรมในฐานะผู้ผลิตวัคซีนเจอีด้วย ไม่ตัดสินใจซื้อ
วัคซีนจากผู้ผลิตอื่น แม้ว่าวัคซีนในคลังกำลังจะหมดลง เพราะอาจเกรงว่ารายได้ในฐานะผู้ผลิตจะลดลง ใน
สถานการณ์ที่ควร องค์การเภสัชกรรมในฐานะหน่วยงานที่ได้รับการว่าจ้างในการกระจายวัคซีน ไม่ควรเป็นผู้จัดหาและผู้ผลิต เพราะจะเกิดภาวะผลประโยชน์ทับซ้อน ข้อกำหนดที่ควรให้มีอีกประเด็นได้แก่การ
กำหนดค่าปรับในกรณีมีปัญหาไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้ตามแผนงาน โดยที่ผ่านมาไม่มีการกำหนด
ปริมาณวัคซีนสำรองในสัญญาว่าจ้างระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและองค์การเภสัชกรรม
ปริมาณสำรองที่จะกำหนดขึ้นนี้ควรคำนึงถึงความสมดุลย์ระหว่างผลประโยชน์จากการจำกัดปริมาณวัคซีน
คงคลัง และปริมาณสำรองที่จะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลน
ข้อบกพร่องประการที่สองได้แก่ บทบาทความรับผิดชอบของแต่ละส่วนงานที่เกี่ยวข้องในระบบ
วัคซีนไม่ชัดเจน บทบาทความรับผิดชอบดังกล่าวได้แก่การสนับสนุนระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
โดยรวม ประเด็นทางคลินิกและเทคนิคของวัคซีนและระบบการให้ภูมิคุ้มกัน ในระบบ VMI สำนักงาน
หลักประกันสุขภาพแห่งชาติรับผิดชอบการจัดหาและกระจายวัคซีน โดยที่การกำหนดนโยบายและการ
ปฏิบัติด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ยังเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรค อย่างไรก็ดีเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ยัง
ไม่ได้มีการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่นไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะ
รับผิดชอบในการเกิดปัญหาในระบบห่วงโซ่ความเย็น การเปลี่ยนแปลงขนาดหรือชนิดของเชื้อที่ผลิตวัคซีน
หรือการเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงจากวัคซีน บทบาทในการประสานงาน ติดตาม และให้คำแนะนำของ
เจ้าหน้าที่ในระดับกรม เขตและจังหวัด ลดลงเนื่องจากต้องไปรับผิดชอบงานอื่นหลังจากการเปลี่ยนแปลง
ไปเป็นระบบ VMI การที่จะลดปัญหาเหล่านี้ ควรต้องกำหนดข้อตกลง แนวทางและขั้นตอนการปฏิบัติงาน
ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ชัดเจน
ประเด็นที่เสนอแนะเพื่อการพัฒนาระบบ VMI ให้ดียิ่งขึ้นได้แก่
การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ VMI โดยการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่
การพัฒนาเว็บไซท์ของ VMI โปรแกรมการบริหารคลังวัคซีน และระบบอินเตอร์เนตที่มี
คุณภาพและรวดเร็ว การขยายระบบเบิกจ่ายผ่านอินเตอร์เนตไปสู่สถานีอนามัยก็เป็น
ประเด็นที่น่าศึกษาในอนาคต
การปรับปรุงคุณภาพการกระจายวัคซีนระหว่างองค์การเภสัชกรรมและคลังอำเภอ โดยควร
มีระบบการควบคุมคุณภาพ เช่นการกำหนดระบบคุณภาพ และแนวทางการปฏิบัติด้านการ
กระจาย (Good Distribution Practice Guidelines)
การปรับปรุงคุณภาพการบริหารวัคซีนที่คลังอำเภอและสถานีอนามัย ซึ่งต้องการการอบรม
และการติดตามให้คำแนะนำ
การขยายระบบสารสนเทศไปยังระดับสถานีอนามัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
การปรับปรุงระบบการบริหารที่ส่วนกลาง เพื่อให้มีระบบห่วงโซ่อุปทานที่ดีขึ้น การสนับสนุน
ทางวิชาการด้านเทคนิคและคลินิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดบทบาทความรับผิดชอบ
ระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่กำหนดให้กรมควบคุมโรคเป็นผู้จัดการโครงการสร้างเสริม
ภูมิคุ้มกันและกำหนดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่จัดหาและกระจาย
วัคซีน โดยมีองค์การเภสัชกรรมรับช่วงในฐานะผู้รับจ้าง