บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามต่อสาธารณะว่า ระหว่างคนจนกับคนรวย ใครคือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งในด้านการใช้บริการสุขภาพและการได้รับประโยชน์จากงบประมาณภาครัฐ ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีเศรษฐานะแตกต่างกัน โดยเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วิธีการศึกษาประกอบด้วยการวิเคราะห์ Benefit incidence analysis ปีงบประมาณ 2544 (ก่อนมีหลักประกันฯ) และ 2546 (หลังมีหลักประกันฯ) โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการของครัวเรือนพ.ศ.2544 และ 2546 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูลต้นทุนการให้บริการสุขภาพของสถานพยาบาลภาครัฐและทรัพยากรที่ภาครัฐสนับสนุนต่อการให้บริการของภาคเอกชน โดยจำแนกคนไทยตามเศรษฐานะออกเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ยากจนที่สุด ยากจนปานกลาง เศรษฐานะดี และดีที่สุด โดยใช้รายได้ต่อหัวประชากรของครัวเรือนที่ปรับแล้วเป็นตัวชี้วัดประเมินความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรภาครัฐโดยใช้ดัชนี concentration index (CI) ศึกษาระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2547 ถึง ตุลาคม 2548
ผลการศึกษาพบว่า ภายหลังการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความครอบคลุมของการมีหลักประกันสุขภาพในประชากรไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71 ใน พ.ศ. 2544 เป็นร้อยละ 95 ใน พ.ศ. 2546 โดยประชากรกลุ่มยากจนส่วนใหญ่ได้รับการคุ้มครองจากนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชากรกลุ่มเศรษฐานะยากจนที่สุดสามารถเข้าถึงและใช้บริการสุขภาพของภาครัฐในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิเพิ่มมากขึ้น ทั้งบริการผู้ป่วยนอก (ที่ระดับสถานีอนามัยเพิ่มจาก 1.20 ครั้ง เป็น 1.90 ครั้งต่อคนต่อปี และที่โรงพยาบาลชุมชนเพิ่มจาก 0.71 ครั้ง เป็น 1.84 ครั้งต่อคนต่อปี) และบริการผู้ป่วยใน (ที่โรงพยาบาลชุมชนเพิ่มจาก 0.036 ครั้ง เป็น 0.063 ครั้งต่อคนต่อปี) ดัชนี CI ของการใช้บริการผู้ป่วยนอกที่สถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป มีลักษณะ pro-poor เพิ่มขึ้นใน พ.ศ. 2546 เช่นเดียวกับการใช้บริการผู้ป่วยในของโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ประชาชนกลุ่มเศรษฐานะยากจนได้รับประโยชน์จากทรัพยากรภาครัฐเพิ่มขึ้นโดยมี CI เพิ่มจาก – 0.044 ในปี 2544 เป็น – 0.123 ใน พ.ศ. 2546 (CI มีค่าระหว่าง +1 ถึง -1 โดยหาก CI มีค่าติดลบเพิ่มขึ้น แสดงว่ามีลักษณะ pro-poor เพิ่มขึ้น) และไม่พบความแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อใช้รายได้ต่อหัวประชากรกับดัชนีสินทรัพย์ในการจำแนกเศรษฐานะของประชากร หรือเมื่อใช้ต้นทุนเฉลี่ยของการให้บริการสุขภาพในระดับประเทศกับต้นทุนในระดับภาค การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าระบบสุขภาพของประเทศไทยมีลักษณะ pro-poor ทั้งก่อนและหลังการการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยกลุ่มประชากรที่มีฐานะยากจนได้รับประโยชน์จากทรัพยากรภาครัฐเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยที่สำคัญคือการขยายการมีหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมคนยากจน และผู้ที่เดิมไม่มีหลักประกันสุขภาพ การลดอุปสรรคด้านการเงินในการเข้าถึงบริการสุขภาพ การมีชุดสิทธิประโยชน์ที่ค่อนข้างครอบคลุม และการกำหนดให้เครือข่ายระดับปฐมภูมิเป็นสถานพยาบาลหลักในการให้บริการสุขภาพซึ่งง่ายต่อการเข้าถึงของประชากรกลุ่มยากจนในชนบท