บทคัดย่อ
การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา 3 ครั้ง ได้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติรวม 34 มติ โดยมีระบบผลักดันและขับเคลื่อนผ่าน 5 ช่องทาง คือ 1) เสนอมติฯ ผ่าน คสช. เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการรวม 14 มติ 2) ทำงานร่วมกับองค์กรภาคีพัฒนาที่ข้อเสนอและที่มีพันธกิจตามมติฯ โดยตรง 3) ทำงานด้วยกระบวนการเฉพาะสำหรับมติฯ ที่ไม่มีเจ้าภาพชัดเจนหรือที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่าย 4) ประสานกับกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ หน่วยงานระดับจังหวัด และ อปท. 5) สร้างการรับรู้และความเข้าใจของสาธารณะ โดยหวังให้เข้ามามีส่วนร่วมตามมติฯ อาจเป็นการดำเนินงานหรือติดตามการทำงานขององค์กรหรือหน่วยงานอื่น ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ตัวมติฯ จึงไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายในความหมายของกระบวนการนโยบายสาธารณะ (Policy process) แต่คาดหวังว่าจะผ่านการเห็นชอบจาก ครม. (legitimization) และมีการนำไปปฏิบัติ (Public policy implementation) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการนโยบาย และจำเป็นต้องมีกลไกในการบริหารจัดการให้เกิดการปฏิบัติที่บรรลุตามเป้าประสงค์ตามที่กำหนดในตัวบทนโยบายประเด็นคำถามในการศึกษา 1. มติฯ มีความก้าวหน้าหรือไม่ อย่างไร ขึ้นกับปัจจัยอะไรบ้าง 2. ระหว่างมติฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากครม. และไม่ผ่าน มีความก้าวหน้าแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร 3. ควรใช้เกณฑ์อะไรบ้างในการเลือกมติฯ มาประเมิน วัตถุประสงค์ทั่วไป 1. เพื่อวิเคราะห์ความก้าวหน้าของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 1-3 จำนวน 34 มติ 2. เพื่อพัฒนาเกณฑ์ในการคัดเลือกมติฯ เข้าสู่การประเมินเชิงนโยบาย