บทคัดย่อ
การสร้างสรรค์ความรู้ของมนุษย์นั้น นอกจากการสังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำและสม่ำเสมอ จนสามารถเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่มีแบบมีแผนแล้ว มนุษย์ยังเรียนรู้จากสถานการณ์สุดโต่งหรืออุบัติการณ์ที่คาดไม่ถึง อันเป็นกรณีที่ผิดแผกไปจากปรกติวิสัยอีกด้วย ในเหตุการณ์สุดขั้วที่คาดไม่ถึงนั้น สิ่งที่มนุษย์ได้เรียนรู้ก็คือ ศักยภาพและความเป็นไปได้ที่เราไม่อาจพบเห็นในสถานการณ์ปกติ มหาอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 เป็นอุบัติภัยที่ยาวนานและรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์กว่า 5 เดือน ที่มวลน้ำปริมาณมหาศาลเดินทางอย่างช้าๆ จากภาคเหนือจนกระทั่งออกสู่อ่าวไทย เรื่องราวความสูญเสียและผลกระทบที่เกิดกับชีวิต ความเป็นอยู่และทรัพย์สินของผู้คนนับแสน ถูกบอกเล่ากล่าวขานและรายงานผ่านสื่อต่างๆ มากมาย สิ่งที่เราได้รับรู้และเรียนรู้ก็คือ อุทกภัยครั้งนี้ นอกจากจะมีความหมายแตกต่างกันระหว่างคนในอาชีพต่างๆ ระหว่างคนรวยกับคนจน ระหว่างคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ กับคนต่างจังหวัดและระหว่างรัฐกับชุมชนแล้ว ปฏิกิริยาต่ออุทกภัยของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้ ยังแตกต่างกันอย่างยิ่ง บ้างดิ้นรนต่อสู้อย่างฮึกเหิม บ้างอ่อนน้อมยอมรับสิ่งที่ธรรมชาติจัดสรรให้ บ้างเสียสละความสุขสบายส่วนตัว เพื่อดูแลคนที่ตนรักหรือเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ตนไม่เคยรู้จัก บ้างอพยพหนีภัยไปอาศัยในศูนย์พักพิง บ้างยืนหยัดไม่ยอมออกจากบ้านที่เคยพักอาศัย บ้างแก่งแย่ง บ้างแบ่งปันและมีอยู่ไม่น้อยที่ชีวิตหลังเหตุอุทกภัยใหญ่นี้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่กลับไปเหมือนเดิมอีก เหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ ถูกถ่ายทอดอย่างกว้างขวางและรวดเร็วผ่านทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์และหน้าจอโทรทัศน์ โดยเฉพาะภาพถ่ายจำนวนมากที่มีการนำขึ้นแสดงและแบ่งปันกันทางสื่อสังคมออนไลน์ แม้ภาพเหล่านั้นจะสะท้อนเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่นี้ได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็มีเรื่องราวและเหตุการณ์อีกมากมายที่หลบซ่อนตัวจากสายตาของผู้คนส่วนใหญ่เพื่อรวบรวมภาพอันเป็นประวัติ ศาสตร์ของเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ให้ครอบคลุมและทั่วถึง สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุข ได้ชวนเชิญช่างภาพชั้นนำของประเทศ ออกเดินทางดั้นด้นเสี่ยงภัยไปทั้งในทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ เพื่อถ่ายภาพชีวิตและถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้พบเห็นเป็นบทเรียน เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์เพื่อเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย จากภาพถ่ายหลายหมื่นภาพ ถูกคัดสรรกลั่นกรองเพื่อให้ได้ภาพที่มีความงดงามทางศิลปะ มีคุณค่าทางจิตใจ และมีความหมายทางประวัติศาสตร์จำนวนกว่า 140 ภาพ รวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มนี้ เพื่อสื่อสารถ่ายทอดถึงศักยภาพและความเป็นไปได้ของผู้คน ชุมชน และองค์กรต่างๆ อันเป็นศักยภาพและความเป็นไปได้ ที่เราไม่อาจพบเห็นในสถานการณ์ปกติ ขอขอบคุณในความทุ่มเทของช่างภาพ ความร่วมมือขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคธุรกิจ และเหล่าจิตอาสาที่อำนวยความสะดวกในสถานการณ์อุบัติภัยที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก และหลายๆ อย่างที่เคยจัดการได้โดยง่ายก็กลายเป็นเรื่องยุ่งยากสับสน ขอบคุณผู้คนที่ให้โอกาสช่างภาพของเราเข้าไปถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ของท่าน เพื่อที่จะให้หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่บันทึกความทรงจำและเตือนสติ ให้เราได้ดำเนินชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท จนถึงวันนี้ หากจะมีบทเรียนที่เราพึงจะจดจำได้จากมหาอุทกภัยปี พ.ศ.2554 ก็คือ อุทกภัยไม่ได้ทำลายเราจนหมดสิ้น และเราจะไม่มีวันสิ้นหวัง หากเรายังมีปัญญาที่จะคิด มีมิตรที่ไม่ทอดทิ้งเรายามที่เราทุกข์ยาก และมีศรัทธาที่เชื่อมั่นว่า “เมื่อภัยพิบัติผ่านพ้นไป เราจะกลับมาเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม”