บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการด้านสุขภาพของ อปท. ศึกษาประเด็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นแต่ละระดับในการจัดการด้านสุขภาพ และจัดทำคู่มือภารกิจงานด้านสาธารณสุขพื้นฐานในการจัดการด้านสุขภาพของ อปท.โดยกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 3 ระดับจำนวน 100 แห่ง วิธีการศึกษาทบทวนแนวคิดทฤษฎี เอกสารผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีสนทนากลุ่ม การจัดทำรูปแบบการจัดการระบบสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำรูปแบบที่ได้ไปทดลองใช้ในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 11 แห่ง และถอดบทเรียนสรุปเป็น รูปแบบการจัดการระบบสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละระดับ ผลการศึกษา พบว่า 1. รูปแบบการจัดการด้านสุขภาพองค์กรปกครองท้องถิ่น จำเป็นต้องมีโครงสร้างในการจัดการระบบสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกรณีศึกษาจังหวัดน่าน ประกอบด้วย การจัดโครงสร้างคณะกรรมการบริหารระบบสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ คณะกรรมการบริหารระบบสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด คณะกรรมการบริหารระบบสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับอำเภอ และคณะกรรมการบริหารระบบสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับพื้นที่ (อบจ. เทศบาล และอบต.) โครงสร้างคณะกรรมการควรประกอบไปด้วย ไตรภาคี 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายท้องถิ่น ฝ่ายสาธารณสุข และฝ่ายประชาชน ในสัดส่วนที่เท่าๆกัน เพื่อกำหนดนโยบาย กรอบภารกิจด้านสาธารณสุข การจัดทำแผนสุขภาพ การสนับสนุนงบประมาณ การควบคุม กำกับ ประเมินผลการดำเนินงาน โดยการกำหนดภารกิจด้านสาธารณสุข ประกอบไปด้วย 3 ภารกิจได้แก่ ภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ ด้านการบริหารจัดการ (การจัดทำแผน การสนับสนุนงบประมาณ การควบคุม กำกับ ประเมินผล) ด้านการจัดบริการและเฝ้าระวังทางสุขภาพ และด้านภารกิจสนับสนุนอื่นๆ เน้นการจัดระบบสวัสดิการ สวัสดิภาพของประชาชน การนำกฎหมายสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ ภารกิจของบุคลากรสาธารณสุข อาทิ การจัดบริการให้มีคุณภาพมาตรฐาน มุ่งประโยชน์ของประชาชน และภารกิจของภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการจัดบริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานบริการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่อเนื่องในชุมชน ด้วยกลุ่มจิตอาสา การสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน การจัดทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ระดับหมู่บ้านและระดับตำบล เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบล และการมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผลด้านสุขภาพอย่างเป็นระบบ 2. ประเด็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นแต่ละระดับ เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้รัฐมีการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นมากขึ้น ประกอบกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้มีการถ่ายโอนงานงบประมาณและบุคลากรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นบุคลากรของ อปท. (อบจ. เทศบาล อบต.) มีหน้าที่ที่สำคัญในการปฏิบัติงานของ อปท.ให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย ภารกิจและอำนาจหน้าที่ของ อปท. รวมทั้งปฏิบัติงานให้บริการสาธารณะ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ บุคลากรของ อปท.จะต้องมีความรู้ความสามารถ มีความเข้าใจในบทบาทอำนาจหน้าที่ของตนเอง สามารถประสานสัมพันธ์ระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีความเข้าใจในนโยบายรัฐบาลแนวทางปฏิบัติงานตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ รวมทั้งแนวทางการบริหารงานรูปแบบต่างๆ เพื่อให้มีความรู้ความสามารถและมีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานตามภารกิจของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นจะต้องมีการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์อยู่เสมอ ซึ่งการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรตามภารกิจด้านสาธารณสุขท้องถิ่น ประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เข้าใจถึงระบบบริหารจัดการของกระทรวงสาธารณสุข การจัดระบบบริการ ภารกิจหลักด้านสาธารณสุขของ อปท. และการจัดการความรู้ (KM) การพัฒนาศักยภาพของบุคลกรสาธารณสุข จะต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพตามวิชาชีพ การเข้าร่วมเวทีวิชาการ การสัมมนาหลักสูตรที่สำคัญ ตลอดถึงการศึกษาต่อเนื่องทั้งหลักสูตรระยะสั้นและหลักสูตรปริญญา และการพัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่าย ที่จะมีส่วนร่วมในการจัดระบบสุขภาพของประชาชนให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนภายใต้บริบทของชุมชน อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุขสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะให้ บรรลุเป้าหมายด้านการจัดระบบสุขภาพที่ดีสอดคล้องกับบริบทชุมชน จะต้องมุ่งการพัฒนา 3 ประการคือมุ่งประโยชน์สูงสุดด้านสุขภาพของประชาชน มุ่งให้เกิดระบบการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นมีพลวัต และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ซึ่งจะต้องมีการเรียนรู้บนฐานความรู้จากบทปฏิบัติการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 3. การจัดทำคู่มือภารกิจงานด้านสาธารณสุขพื้นฐานในการจัดการด้านสุขภาพของ อปท. เนื่องด้วยภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญต่อการดูแลทุกข์สุขของประชาชน การคุ้มครองและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดี พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายที่กระจาย อำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้บังคับใช้ หลังจากทีมวิจัยได้ทำการวิเคราะห์กฎหมายดังกล่าวแล้วพบว่าคู่มือการปฏิบัติงานตามกฎหมายการสาธารณสุขของกรมอนามัยเป็นคู่มือการปฏิบัติงานที่มีมาตรฐานการปฏิบัติงานสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสามารถลดปัญหาอุปสรรคขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการปฏิบัติหน้าที่ได้