บทคัดย่อ
การทบทวนระบบข้อมูลติดตามประเมินผลและตัวชี้วัดส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาข้อเสนอต่อการดำเนินงานด้านข้อมูลข่าวสารสำหรับการติดตามประเมินผลงานบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. เพื่อทบทวนระบบข้อมูลและรายงานด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่มีอยู่ จำแนกตามประเด็นด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ในด้านรูปแบบวิธีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล หน่วยงานผู้รับผิดชอบ รวมทั้งกลไกการกำกับติดตามข้อมูลและการควบคุมคุณภาพ โดยเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดที่มีการกำหนดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2. เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ จุดแข็งและจุดอ่อนหรือข้อจำกัดของระบบข้อมูลและรายงานด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่มีอยู่ รวมทั้งประเด็นความซ้ำซ้อนของข้อมูลและแนวทางการใช้ประโยชน์ 3. เพื่อพัฒนาข้อเสนอและทางเลือกในการปรับปรุงหรือพัฒนาระบบข้อมูลและรายงานด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เพื่อเพิ่มคุณภาพความน่าเชื่อถือของข้อมูล ลดความซ้ำซ้อนของการจัดเก็บ รวมทั้งการจัดการข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ในการทบทวนระบบข้อมูลที่มีอยู่และตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง มีการศึกษาในส่วนของบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคทั้งสิ้น 10 ประเภทบริการ ได้แก่ 1. ระบบข้อมูลบริการดูแลมารดาก่อนคลอดและหลังคลอด 2. ระบบข้อมูลบริการอนามัยทารกแรกเกิด 3. ระบบข้อมูลบริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 4. ระบบข้อมูลบริการวางแผนครอบครัว 5. ระบบข้อมูลบริการคัดกรองความเสี่ยงและคัดกรองโรคเรื้อรัง 6. ระบบข้อมูลบริการคัดกรองโรคมะเร็ง 7. ระบบข้อมูลบริการเฝ้าระวังทางโภชนาการ 8. ระบบข้อมูลบริการทันตสุขภาพ 9. ระบบข้อมูลบริการเฝ้าระวังสุขภาพจิต 10. ระบบข้อมูลบริการตรวจสุขภาพทุกกลุ่มอายุ โดยในการนำเสนอระบบข้อมูลของบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคทั้ง 10 ประเภทนั้น จะมีการนำเสนอใน 3 ส่วน ได้แก่ส่วนที่ 1 ตัวชี้วัดที่มีการกำหนดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเสนอชุดตัวชี้วัดที่มีการกำหนดโดยองค์กรหลักด้านสุขภาพในประเทศไทย ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และตัวชี้วัดที่มีการกำหนดและนำเสนอในระดับนานาชาติ ในที่นี้ ได้แก่ ตัวชี้วัดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในรายงาน World Health Statistics และตัวชี้วัดของ OECD ว่าด้วย Quality of health promotion, prevention and primary care พร้อมการสรุปภาพรวมของตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่ 2 ระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความเชื่อมโยงกับตัวชี้วัด นำเสนอระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่มีการดำเนินการในปัจจุบันหรือเป็นทิศทางในอนาคตอันใกล้ โดยแบ่งตามระบบจัดเก็บข้อมูลหลัก 4 ลักษณะ ได้แก่ ระบบรายงานประจำ ระบบข้อมูลรายบุคคลที่อยู่ในระบบบริการปกติ ระบบข้อมูลรายบุคคลที่มีการบันทึกข้อมูลเฉพาะ และระบบการสำรวจ ทั้งนี้ในการนำเสนอจะทบทวนถึงรูปแบบวิธีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลและหน่วยงานผู้รับผิดชอบ กลไกการกำกับติดตามข้อมูลระดับประเทศระดับเขต ระดับจังหวัด คุณภาพของข้อมูลและการควบคุมคุณภาพ พร้อมการสรุปการเชื่อมโยงของระบบข้อมูลแต่ละระบบกับตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่ 3 ข้อเสนอระบบข้อมูลที่เหมาะสม สังเคราะห์จุดเด่นและข้อจำกัดของระบบข้อมูลแต่ละระบบ พร้อมข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบข้อมูลและการบูรณาการระบบข้อมูล เพื่อตอบความต้องการข้อมูลในระดับชาติ ระดับภาค ระดับเขตสุขภาพ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับหน่วยบริการ โดยการเสนอทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการจัดเก็บข้อมูลเพื่อตอบสนองความต้องการในแต่ละระดับ โดยอาจจะมีการผสมผสานระบบข้อมูลหลายระบบเพื่อเติมเต็มจุดอ่อนของกันและกัน