บทคัดย่อ
ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติเป็นเจตจำนงและพันธะร่วมกันของสังคม เพื่อให้ทุกภาคส่วนใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ ที่ทุกภาคส่วนใช้เป็นกรอบอ้างอิงในการจัดทำแผนโดยพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔๖ กำหนดให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ต้องจัดทำธรรมนูญฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบให้ผูกพันหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องดำเนินการต่อตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน กำลังคนด้านสุขภาพในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ มีความหมายครอบคลุมถึงบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีบทบาทในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งรวมถึงบุคลากรด้านสาธารณสุข ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการสาธารณสุข บุคลากรสายสนับสนุน บุคลากรทางการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก อาสาสมัครด้านสุขภาพต่าง ๆ แกนนำและเครือข่ายสุขภาพ ตลอดจนบุคลากรต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ตามมาตรา ๔๖ วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ .ศ.๒๕๕๐ กำหนดให้ คสช . ทบทวนธรรมนูญฯอย่างน้อยทุก ๕ ปี เพื่อให้มีความเป็นพลวัต สามารถแก้ปัญหาและพัฒนาระบบสุขภาพได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ร่วมกับสถาบันวิจับระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงจัดให้มีโครงการศึกษาและทบทวนความรู้จากกระบวนการขับเคลื่อนใช้ประโยชน์ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ ขึ้นเพื่อประกอบการปรับปรุงธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวซึ่งในการศึกษานี้ได้ทบทวนความรู้ในหมวด 11 การสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข วัตถุประสงค์ 1. เพื่อทบทวนและวิเคราะห์สถานการณ์ของระบบการสร้างพัฒนาและจัดการบุคลากรด้านสุขภาพในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา 2. เพื่อประเมินสถานการณ์ โอกาส ภัยคุกคาม ความท้าทายในระบบการสร้างพัฒนาและจัดการบุคลากรด้านสุขภาพ โดยอ้างอิงจากสาระในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 3. เพื่อสังเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของระบบการสร้างพัฒนาและจัดการบุคลากรด้านสุขภาพให้ข้อเสนอแนะทิศทางที่ควรจะเป็นในการกำหนดภาพอนาคตหรือภาพพึงประสงค์ในอีก 10 ปีข้างหน้า วิธีการศึกษา 1. ทบทวนวรรณกรรมและเอกสารที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับสถานการณ์การสร้าง/การผลิตพัฒนาและจัดการบุคลากรด้านสุขภาพในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และทบทวนการศึกษาแนวโน้มในอนาคต รวมทั้งบทบาทหน้าที่ขององค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและความสัมพันธ์เชื่อมโยง 2. การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเพื่อให้ความเห็นด้านสถานการณ์ โอกาส ภัยคุกคาม ความท้าทายในด้านใดด้านหนึ่งในต่อไปนี้ • การศึกษาและการพัฒนาบุคลากรสุขภาพ • การจัดการบุคลากรสุขภาพ • ระบบการเงินการคลังสุขภาพ • การจัดระบบบริการสุขภาพ 3. วิเคราะห์ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสถานการณ์ โอกาส ภัยคุกคาม ความท้าทาย ของการสร้างพัฒนาและจัดการบุคลากรด้านสุขภาพกับสาระที่เกี่ยวข้องตามธรรมนูญฯ พ.ศ. 2552