บทคัดย่อ
ระบบการติดตามราคายามี 2 แบบ คือ ระบบการติดตามราคายาที่เน้นการรายงานราคายาแต่ละรายการ หรือตามกลุ่มยาที่สนใจ ซึ่งในประเทศไทยมีการติดตามราคาจัดซื้อยาโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้ระบบการรายงานแบบสมัครใจส่งให้ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ (Drug and Medical Supply Information Center, DMSIC) และระบบการติดตามแนวโน้มราคายาโดยการสร้างดัชนีราคา จากรายการยาที่จำเพาะที่เลือกมาในตะกร้ายาเพื่อติดตามค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงราคายาในภาพรวม ซึ่งการจัดทำดัชนีราคายาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีราคาผู้บริโภคโดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า ยาเป็นเพียงส่วนหนึ่งในหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล และยาที่ทำการติดตามเป็นรายการยาที่จำหน่ายในร้านยา ในขณะที่ปัจจุบันส่วนแบ่งของตลาดยาที่เป็นโรงพยาบาลมีมูลค่ามากกว่าร้อยละ 70 ของตลาดยาทั้งหมด การศึกษาครั้งนี้พัฒนาดัชนีราคาผู้ให้บริการสุขภาพสำหรับโรงพยาบาลภาครัฐโดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ทั้งจากฐานข้อมูลผู้ป่วยนอก 18 แฟ้มมาตรฐาน 8 จังหวัดทำร่องของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2553 มาใช้ในการจัดทำน้ำหนักดัชนี และใช้ข้อมูลราคาจัดซื้อยาทุกรายการย้อนหลัง ซึ่งรวมส่วนลด ส่วนแถมแล้ว ในช่วงปีงบประมาณ 2553- 2555 ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 30 แห่งที่สมัครใจเข้าร่วมการศึกษามาใช้ในการติดตามดัชนีราคายา โดยโครงสร้างตะกร้ายาในการจัดทำดัชนีใช้ตาม ATC group จากการติดตามดัชนีราคายาในการศึกษาครั้งนี้พบว่า พบว่าดัชนีราคายาเฉลี่ยในช่วงปี 2554 มีการปรับตัวลดลงจากดัชนีในปีฐาน (ปี 2553) โดยลดลงประมาณร้อยละ 4.27 แสดงให้เห็นว่าภาพรวมราคายาลดลง สำหรับการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาแต่ละ ATC group พบว่า ATC group ที่มีการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคามากที่สุดคือ group R (ยาระบบทางเดินหายใจ) โดยดัชนีเท่ากับ 85.6 ในเดือนธันวาคม ปี 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับปีฐาน ส่วน ATC group ที่มีการเปลี่ยนแปลงของดัชนีน้อยที่สุดคือ group N (ยาระบบประสาท) โดยดัชนีเท่ากับ 97.87 ในเดือนธันวาคม ปี 2554 ข้อจำกัดที่สำคัญคือการจัดทำน้ำหนักในการศึกษาครั้งนี้สะท้อนถึงยาผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศูนย์/ ทั่วไป/ ชุมชน ในต่างจังหวัด ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหลัก ทั้งนี้ในอนาคตอาจมีการจัดทำดัชนีราคายาสำหรับส่วนอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยใน ร้านยา โรงพยาบาลสังกัดอื่น การจัดทำน้ำหนักดัชนีราคายาในอนาคตอาจใช้ข้อมูลมากกว่า 1 แหล่ง เช่น ใช้ข้อมูลของ อย ร่วมกับข้อมูล OP 18 แฟ้มมาตรฐาน ควรมีการคำนวณน้ำหนักดัชนีแยกระหว่างโรงพยาบาลระดับต่างๆ และจัดทำดัชนีในลักษณะที่สามารถเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกองทุนประกันสุขภาพได้สำหรับยาที่มีราคาซื้อแตกต่างกันระหว่างกองทุน ทั้งนี้ควรศึกษาการเปลี่ยนแปลงมาตรการในการควบคุมราคายาของแต่ละกองทุน และมาตรการควบคุมราคายาของประเทศไปควบคู่ด้วย เนื่องจากมาตรการต่างๆจะมีผลต่อราคายาและดัชนีราคายาในการดำเนินงานเรื่องการติดตามราคาและการจัดทำดัชนีราคายาของประเทศในระยะยาว ควรมีหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ดังกล่าว ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการมีหน่วยงานทรัพยากร รวมถึงกลไกในการติดตามราคายาและการจัดทำดัชนีราคายา