บทคัดย่อ
การวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของระบบสร้างเสริมสุขภาพตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2552 มีข้อค้นพบดังนี้ 1. นิยามการสร้างเสริมสุขภาพ/การส่งเสริมสุขภาพของประเทศไทยขยายขอบเขตและสอดคล้องกับสากล 2. การสร้างเสริมสุขภาพมีมิติที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาระบบสุขภาพและเป็นระบบย่อยของระบบสุขภาพด้วย 3. สถานการณ์ปัจจุบันของบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบการสร้างเสริมสุขภาพพบว่าเสริมหนุนกันไปทิศทางเดียวกันแต่ระบบอภิบาลแยกส่วน กระทรวงสาธารณสุขกำหนดบทบาทตนเองใหม่ให้มีหน้าที่หลักในการอภิบาลระบบเพิ่มจากเดิมที่เน้นเป็นผู้ให้บริการ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพกำหนดบทบาท คือการร่วมมือกับภาคีและการเสริมศักยภาพภาคีในการสร้างเสริมสุขภาพ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพมีบทบาทเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กับบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ,และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมีบทบาทในด้านการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมแต่ทุกองค์กรมีความเป็นอิสระ มีกรรมการนโยบายหรือกรรมการบริหารที่มาจากหลายภาคส่วนแต่แยกคณะกัน อาศัยอำนาจกฎหมายคนละฉบับในภาพรวมพบว่าเริ่มมีกลไกไม่ถาวรเชื่อมประสานหน่วยงานระดับนโยบาย 4 หน่วยงาน สสส. กสธ. สปสช. และ สช. แต่ไม่พบกลไกการเชื่อมงานสร้างเสริมสุขภาพในระดับจังหวัด ไม่มีแผนพัฒนากำลังคนด้านการสร้างเสริมสุขภาพระดับประเทศและการประเมินผลการสร้างเสริมสุขภาพไม่ครอบคลุมทั้งระบบเนื่องจากงานสร้างเสริมสุขภาพในระดับพื้นที่มีความหลากหลายสูงและมีนวัตกรรมที่หลากหลาย 4. สถานการณ์ผลลัพธ์การสร้างเสริมสุขภาพและการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลักๆ พบว่า การเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและอนามัยส่วนบุคคลและการลดการตายจากอุบัติเหตุจราจรมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่มาตรการที่ใช้ควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลักอื่นๆ เริ่มชะลอประสิทธิภาพบ้างแล้ว ทำได้แค่เพียงควบคุม 2 สถานการณ์ให้ทรงตัวเช่น อัตราการสูบบุหรี่ เป็นต้น ในขณะที่ปัจจัยคุกคามใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา 5. บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์ ณ พ.ศ. 2552 คือ การปฏิรูปบทบาทภายในระบบราชการสาธารณสุขระหว่าง พ.ศ. 2554-2556 และการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงใน พ.ศ. 2558 นี้