บทคัดย่อ
การศึกษาเชิงวิเคราะห์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการนำมติสมัชชาไปสู่การปฏิบัติ และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อกระบวนการสมัชชา ด้วยการทบทวนเอกสาร ศึกษาเชิงปริมาณและคุณภาพ ประชากรที่ศึกษาคือ คณะกรรมการขับเคลื่อนและผู้เกี่ยวข้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 6 มติ ได้แก่ การจัดการขยะอันตรายจากชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การพัฒนาการแพทย์แผนไทยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ นโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ และการแก้ปัญหาวัยรุ่นไทยกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ผู้เกี่ยวข้องในมติสมัชชาทั้ง 6 เห็นพ้องว่า กระบวนการสมัชชาเป็นกระบวนการเรียนรู้ของแต่ละภาคส่วนและภาคีเครือข่าย ช่วยในการพัฒนาเครือข่ายสมาชิกด้วยยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาและยังเป็นการเปิดพื้นที่แก่เครือข่าย และสปิริตสมัชชาของเครือข่ายส่วนหนึ่งเกิดจากการสื่อสารให้ตระหนักรู้และร่วมคิดเพื่อการขับเคลื่อนร่วมกันแบบหุ้นส่วน
ในกระบวนการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เน้นแบบแผนมากจนกลายเป็นพิธีการซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของสมัชชาอยู่ที่การนำมติไปปฏิบัติให้เกิดผล ไม่ใช่พิธีการ
การมีมติสมัชชาจำนวนมากเป็นภาระของ สช. ในการ 1) จัดตั้งกลไกระดับชาติ (เช่น ขาดผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการ (บางคนเป็นกรรมการหลายชุดทำให้ไม่มีเวลา/ไม่มีการติดตาม) 2) จัดกระบวนการและสนับสนุนทรัพยากรในการขับเคลื่อนและติดตาม ในการ บางมติ สช. ต้องขับเคลื่อนเอง
ในบางมติพบว่า แนวคิดที่ไม่สอดคล้องกันเป็นอุปสรรคในการสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างภาคส่วนและขับเคลื่อน แม้จะร่วมวงทำข้อเสนอมาด้วยกัน โดยเฉพาะในภาคราชการที่มีความเป็นใหญ่กว่าจากฐานงบประมาณและกำลังคน นอกจากนี้ การรวมหลายเรื่องเข้าไว้ในมติเดียวกัน ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมได้เมื่อน้ำหนักของการขับเคลื่อนโน้มเอียงไปในบางเรื่อง
หากตัดเรื่องแนวคิดแล้ว ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนคือ ความเป็นตัวจริงของผู้เสนอประเด็นซึ่งคือศักยภาพและคุณภาพของแกนขับเคลื่อนและเครือข่าย กลไกหรือระบบสนับสนุน และการสื่อสาร สำหรับภาครัฐมีลักษณะ เงื่อนไข และข้อจำกัดจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจรวมเรียกว่า บริบทระบบราชการ ทำให้ไม่เหมาะที่จะเป็นแกนขับเคลื่อน ในการศึกษานี้พบว่า องค์กร/สถาบันวิชาการเหมาะที่จะมีบทบาทอำนวยการขับเคลื่อนบนฐานวิชาการและเครือข่ายต่างๆ ขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเสมอภาคซึ่งภาคราชการให้ความสำคัญมากกับการแบ่งและการมีบทบาทในการขับเคลื่อน เพื่อไม่ให้เกิดความคิดว่า มาทำงานให้หน่วยงานอื่น อย่างไรก็ตามการปะทะสังสรรค์ระหว่างกันทั้งขาขึ้นและขาเคลื่อนช่วยให้เกิดการพัฒนาซึ่งกันและกันในด้านการฟัง การคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผล และการต่อรอง
หน่วยงานราชการที่ถูกระบุในข้อเสนอมติให้นำไปปฏิบัติมักมีปัญหา 1) ความเป็นเจ้าของร่วมเพราะขาดส่วนร่วมในขาขึ้น 2) ขึ้นกับนโยบายผู้บังคับบัญชา การอ้างอิงมติเพื่อนำมาปฏิบัติ เป็นไปได้ยากหากไม่ใช่ตัวชี้วัด 3) มีการเปลี่ยนสถานที่ทำงาน เปลี่ยนตำแหน่งงาน รวมทั้งมีการเปลี่ยนผู้บังคับบัญชา แต่จุดแข็งคือ มีบทบาทภารกิจเฉพาะและมีงบประมาณของตัวเอง
เมื่อเทียบกับภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนทำงานด้วยความยากลำบากกว่า เช่น มีปัญหาด้านงบประมาณที่ต้องเลี้ยงทั้งตัวเองครอบครัวและการดำเนินงาน และกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่มักมีปัญหาด้านวิชาการร่วมด้วย แต่กลุ่มคนเหล่านี้มีความเป็นเจ้าของประเด็นสูงและมุ่งมั่นในการขับเคลื่อน
ในการศึกษานี้ 5 ใน 6 มติ พบว่า สสส. เป็นร่มใหญ่ของการสนับสนุนการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนทุกระดับ และเมื่อเกี่ยวข้องกับระบบประกันสุขภาพ สปสช. ก็ไม่รีรอที่จะเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาด้วยทัศนะที่เปิดกว้าง น่าสังเกตว่า องค์กรหลักเหล่านี้มักมีประเด็นนโยบายสอดคล้องกันกับสมัชชาต่างๆ และมีความยืดหยุ่นในการสนับสนุน