บทคัดย่อ
การคาดการณ์อนาคต (Foresight) ของระบบสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการเพื่อทบทวนธรรมนูญสุขภาพ ฉบับ พ.ศ. 2552 ด้วยการศึกษาแนวโน้มของปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ โอกาสและภัยคุกคาม ตลอดจนความไม่แน่นอนต่างๆ แล้วจัดทำภาพอนาคต (Scenario building) ของระบบสุขภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางและบทบาทของภาคีที่เกี่ยวข้องสำคัญในอนาคต เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ/วิชาชีพ ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพ การจัดทำภาพอนาคตของระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะนำไปสู่วางแผนเตรียมการในเชิงระบบเพื่อรองรับภาพอนาคตที่ได้สร้างไว้ต่อไป
การศึกษาประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 ประการ ได้แก่
1. การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder analysis) ของระบบสุขภาพโดยผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุภาพ
2. การสำรวจแนวโน้มปัจจัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นใน 10 ปีข้างหน้าและผลกระทบต่อระบบสุขภาพ ด้วย Real-time Delphi Survey ซึ่งประกอบด้วย 29 ปัจจัย และออกแบบสำรวจเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 การให้ความเห็นว่าแต่ละปัจจัยมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้ามากน้อยเพียงใด และผลกระทบต่อระบบสุขภาพ ช่วงที่ 2 การเลือกปัจจัยที่ควรให้ความสนใจในการพัฒนาระบบสุขภาพ ช่วงที่ 3 การจับคู่ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กันมากที่สุดตามความเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจ ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจสามารถเข้าสู่ระบบเพื่อทำการแก้ไขข้อมูลได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งภายในระยะเวลาที่กำหนด (2 เดือน)
3. การวางแผนด้วยภาพอนาคต (scenario planning) ด้วยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “จัดทำภาพอนาคตระบบสุขภาพของคนไทยในศตวรรษหน้า” ในการนี้ได้เชิญผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียบางส่วนตามผลที่ได้วิเคราะห์ไว้ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาร่วมจัดทำภาพอนาคต โดยใช้แกนความไม่แน่นอน 2 แกน ซึ่งเป็นผลที่ได้จากการสำรวจเดลไฟ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม และ ความเหลื่อมล้ำและการเปลี่ยนแปลงในสังคม
จากผลการศึกษา รายงานฉบับนี้จึงเสนอแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาระบบสุขภาพด้วยหลัก 4G’s ได้แก่ ระบบอภิบาล (governance) การรวมกันเป็นหนึ่ง (glomeration) การเติบโต (growth) ของระบบสุขภาพ และความเอื้ออาทร (generosity)