บทคัดย่อ
ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระบบสุขภาพยุคใหม่ เป็นความท้าทายต่อองคาพยพในระบบสุขภาพที่จะต้องปรับตัวให้ทันกับบริบทและสถานการณ์ที่ไม่เหมือนเดิม ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายอันส่งผลต่อการพัฒนาระบบสุขภาพในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสถานะสุขภาพ ปัญหาสุขภาพ ความต้องการบริการสุขภาพ การจัดการและการกำหนดนโยบายระบบสุขภาพในหลากหลายทิศทางและมิติ ซึ่งการจะกำหนดกรอบแนวทางในการดำเนินนโยบาย ยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของประเทศ หรือธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันจะส่งผลต่อสุขภาพของคนไทยทั้งในเชิงบวกและเชิงลบด้วย
ในโอกาสที่กำลังจะมีการทบทวนธรรมนูญฯ ตามที่พระราชบัญญัติสุขภาพได้กำหนดให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการอย่างน้อยทุกห้าปี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการศึกษาและทบทวนความรู้จากกระบวนการขับเคลื่อน ใช้ประโยชน์ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดทำโครงการวิเคราะห์และจัดทำภาพอนาคตของระบบสุขภาพ (Foresight Research) ในอีก 10 ปีข้างหน้า
จากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและเหตุการณ์สำคัญที่มีอิทธิพลผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพ การสำรวจแนวโน้มปัจจัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นใน 10 ปีข้างหน้า ตลอดจนประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบสุขภาพ จนได้ภาพอนาคตระบบสุขภาพไทย ปี 2566 สามภาพ ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่มองโดยคนไทยจำนวนหนึ่งที่เห็นภาพฝันตรงกัน คือ อนาคตแบบที่หนึ่งเป็นภาพ “ราษฎร์-รัฐร่วมคิดร่วมสร้างสรรค์ ร่วมผลักดันระบบสุขภาพ” อนาคตแบบที่สองเป็นภาพ “ระบบสุขภาพของใคร (ของมัน) ดั่งฝันที่ไกลเกินเอื้อม” และอนาคตแบบที่สามเป็นภาพ “ในเงามืดที่ทาทาบ ระบบสุขภาพยังยืนหยัด” ทั้งสามภาพนี้ไม่เพียงช่วยให้ “เห็นอนาคต” ที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยเตือนให้เรารู้ว่าจะเกิดปัญหาอะไรบ้างในอนาคต เพื่อให้องคาพยพในระบบสุขภาพสามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือและ “หลีกเลี่ยง” อนาคตในรูปแบบที่เราไม่ต้องการได้
หนังสือเล่มนี้ รวบรวมสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักการคาดการณ์อนาคต วิธีการ และผลลัพธ์ที่ได้ โดยหวังว่าข้อมูล ความรู้ และความคิดเห็นต่างๆ จะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับต่อไป