บทคัดย่อ
ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 เป็นธรรมนูญฯ ฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่กำหนดในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ผ่านกระบวนการยกร่างที่มุ่งใช้องค์ความรู้ทางวิชาการทั้งจากการทบทวนสถานการณ์ของระบบสุขภาพในระบบย่อยต่าง ๆ รวมถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณายกร่างสาระเนื้อหาในธรรมนูญฯ ซึ่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้กำหนดให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ทบทวนธรรมนูญฯ อย่างน้อยทุกห้าปี โดยการทบทวนสาระของธรรมนูญฯ ในครั้งแรกนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมกันจัดทำโครงการศึกษาและทบทวนความรู้จากกระบวนการขับเคลื่อนใช้ประโยชน์ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 โดยมีนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ ซึ่งประกอบด้วยโครงการศึกษาย่อย ๆ อีก 10 โครงการ ทั้งนี้ มี 8 โครงการย่อยที่เป็นการทบทวนสถานการณ์ระบบสุขภาพรายหมวดตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 โดยได้นักวิจัยจากสหสาขาวิชา จำนวน 8 ทีม ศึกษาทบทวนและวิเคราะห์สถานการณ์ของแต่ละระบบในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเพื่อประเมินสถานการณ์ โอกาส ภัยคุกคามในระบบสุขภาพรายหมวด ตั้งแต่หมวด 4 ถึง หมวด 12 โดยนำสาระสำคัญของหมวด 1 ถึง หมวด 3 ที่เป็นปรัชญาแนวคิดหลัก ลักษณะพึงประสงค์ของระบบสุขภาพ มาใช้ในการวิเคราะห์ร่วมด้วย หลังจากการศึกษาทั้ง 8 เรื่องย่อยเสร็จสมบูรณ์ คณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ จึงมอบหมายให้มีทีมสังเคราะห์กลางทำหน้าที่ประมวลข้อมูลจากผลการศึกษาย่อย วิเคราะห์ สังเคราะห์สถานการณ์และบริบทโดยรวมที่มีผลต่อระบบสุขภาพ รวมทั้งทบทวนแนวโน้มใหม่ๆ ของระบบสุขภาพในอนาคต เพื่อให้ง่ายต่อการใช้ประโยชน์ และสามารถนำมาใช้คาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริงมากยิ่งขึ้น