บทคัดย่อ
สำหรับฉบับนี้ ถือเป็นฉบับที่ 1 ประจำเดือนมิถุนายน 2555
ที่มาพร้อมกับสาระความรู้ที่เข้มข้น ซึ่งจะได้นำมาแบ่งปันกันในฉบับนี้
โดยเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ
กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และคณะ
แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาระดับชาติ เรื่อง “เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ :
ภาวะวิกฤติสุขภาพคนไทย” ขึ้น ที่ระดมเหล่านักวิชาการ ตลอดจนบุคลากรสาธารณสุข
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมคิดค้นหาทางออกจากวิกฤตสถานการณ์เชื้อดื้อยาปฎิชีวนะที่
กำลังทวีความรุนแรงและขยายผลกระทบไปทั่วโลก โดยมีข้อเสนอสำคัญๆ เกิดขึ้นจากเวทีนี้
ที่คาดว่าภายในปีนี้ข้อเสนอต่างๆ จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะจัดเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญ ถึงขนาดที่ทางองค์การอนามัย
โลกได้กำหนดเป็นคำขวัญในวันสุขภาพโลก ประจำปี 2554 ว่า “Antimicrobial Resistance:
No Action Today, No Cure Tomorrow” เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้นานาชาติหันมา
ให้ความสนใจและมีมาตรการในการป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาก่อนที่สถานการณ์จะรุนแรง
ไปกว่านี้ เพราะเชื้อดื้อยาถือว่าเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่มีอันตรายรุนแรง ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต
โดยทำให้เราย้อนกลับไปเหมือนในอดีตในยุคก่อนปี 80 ที่ไม่มียาปฏิชีวนะหรือยาที่มีประสิทธิภาพ
ใดๆ ในการรักษาโรค ที่สำคัญยาที่จะนำมารักษาโรคที่เกิดจากเชื้อดื้อยาอาจมีราคาแพงกว่า
ราคาทองคำในตลาดเสียด้วยซ้ำ
ในส่วนของแกะกล่องงานวิจัย ได้นำเอางานประเมิน “ผลลัพธ์มาตรการสร้างเสริม
สุขภาพ” ขององค์กรยักษ์ใหญ่ด้านสุขภาพ ที่เรารู้จักกันดีในนาม สสส. มาเล่าสู่กันฟัง ซึ่ง
ความน่าสนใจของงานนี้อยู่ที่การประเมินผลลัพธ์การดำเนินงานขององค์กรด้วยการวัด “ความ
เต็มใจควักประเป๋าจ่ายให้กับมาตรการดังกล่าว” ของประชาชน ตลอดจนเครื่องมือการวัด
ทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งในต่างประเทศมีการนำระเบียบวิธีวิจัยนี้มาใช้อย่างกว้างขวาง สำหรับใน
ประเทศไทยยังมีการถกเถียงเกี่ยวกับระเบียบวิธีที่เหมาะสมกับองค์กรด้านสุขภาพด้วยเครื่องมือนี้
อยู่ แต่ถึงอย่างไรงานวิจัยนี้น่าจะเป็นจุดต่อยอดพัฒนาแนวทางการประเมินให้ดีขึ้นต่อไปได้
สุดท้ายงานวิจัยนี้ได้ทิ้งทายไว้ด้วยการท้าทายการพัฒนาในระยะถัดไปของ สสส. ด้วยการ
พัฒนาเป้าหมายและตัวชี้วัดโดยกำหนดเป็นจำนวนนักดื่มนักสูบหน้าใหม่ และจำนวนผู้ที่เลิก
ดื่มเลิกสูบได้จากการดำเนินงานของ สสส. งานนี้...แม้จะเป็นเรื่องไม่ง่ายแต่ท้าทายคนทำงาน
ได้ไม่น้อย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (มรอ.) อีกหนึ่ง “โมเดล”
ที่เป็นต้นแบบในการขยายผลโครงการ ”1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด” ที่เกิดจากการตื่นตัวและ
ตอบรับที่จะปรับตัวเองให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสังคม โดยยื่นมือออกไปช่วยสังคมมากขึ้น
ด้วยการนำความรู้ต่างๆ จากงานวิจัยบนหิ้งลงสู่ชุมชนและท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ฯลฯ