บทคัดย่อ
การคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรเป็นการตรวจหาโรคหรือปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคในประชากรที่สุขภาพดี เพื่อป้องกันโรคหรือรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น การคัดกรองบางรายการในชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพขาดหลักฐานเรื่องประสิทธิผลและประสิทธิภาพ การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์อย่างเป็นระบบ จึงควรอยู่บนหลักฐานวิชาการและผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอประสบการณ์และผลการจัดลำดับความสำคัญของโรคและปัญหาสุขภาพที่ควรคัดกรองในระดับประชากรไทย โดยการนำวิธีเดลฟายมาประยุกต์ มีการจัดลำดับความสำคัญ ๓ รอบ นำเสนอผลการจัดลำดับในแต่ละรอบ และเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม ๔๑ คน จาก ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข/นักวิชาการสาขาที่เกี่ยวกับสุขภาพ (๑๖ คน) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ (๑๐ คน) และกลุ่มองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไร/ประชาชนทั่วไป (๑๕ คน) ทั้งนี้ โรคและปัญหาสุขภาพที่ใช้ในการจัดลำดับความสำคัญเป็นโรคและปัญหาสุขภาพที่มีภาระโรคสูงสุด ๑๐ อันดับแรกของแต่ละกลุ่มอายุ รวมทั้งสิ้น ๓๑ โรค/ปัญหา ผู้วิจัยเตรียมข้อมูลตามเกณฑ์การคัดเลือกที่กำหนดไว้ ได้แก่ ๑) ขนาดของโรคและปัญหาสุขภาพ ๒) การมีอยู่ของวิธีการคัดกรอง ในการจัดลำดับความสำคัญ ผู้เข้าร่วมประชุมใช้เกณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมจากที่กำหนด ได้แก่ ขนาดของปัญหาที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องด้านสุขภาพและสังคม ค่าใช้จ่าย ความแม่นยำ ความคุ้มค่า ความยากง่ายของวิธีการคัดกรอง และประสิทธิผลของการรักษาเมื่อพบโรคหรือมีปัญหาสุขภาพ ผลการจัดลำดับความสำคัญของโรคและปัญหาสุขภาพที่ควรมีการคัดกรองในระดับประชากรที่ได้จากผู้เข้าร่วมประชุม มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๒ เรื่อง ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ภาวะติดแอลกอฮอล์ ตับแข็งและมะเร็งตับ เอชไอวี/เอดส์ โลหิตจาง/ธาลัสซีเมีย/ภาวะทุพโภชนาการ มะเร็งปากมดลูก หืด วัณโรค ไตอักเสบ มะเร็งเต้านม และปัญหาอุบัติเหตุจราจร ผู้วิจัยจะประเมินวิธีการคัดกรองโรคและปัญหาสุขภาพเหล่านี้อย่างเป็นระบบต่อไป
บทคัดย่อ
Population-based screening is a large-scale process of identifying apparently healthy people for disease
risks. Some health screening programs in Thailand have been introduced without scientific evidence.
This paper details the experience gained from a systematic and participatory prioritization of health problems
to be screened in Thailand. A consultation meeting with three rounds of anonymous votes was conducted.
Participants included technical officers in the Ministry of Public Health, medical practitioners,
representatives of non-governmental organizations and lay people. We identified the primary list of 31
health problems for their contributions to disability-adjusted life years (DALYs) in Thailand. A set of
information depicting the burden of diseases and availability of screening techniques were provided to
participants prior to the meeting. The prioritization process was conducted with a modified Delphi technique.
The final list of high-priority health problems was determined by researchers using inputs from
round three and overall aspects: ischemic heart disease and stroke, diabetes, alcohol dependence, cirrhosis
and liver cancer, anemia, cervical cancer, HIV/AIDS, asthma, tuberculosis, nephritis and nephrosis,
breast cancer and traffic accidents. They will be investigated further on the appropriate screening program.