บทคัดย่อ
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจถ้าปล่อยให้เลวร้ายลงเรื่อยๆ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็น ‘ปัญหา’ ที่คุกคามความอยู่ดีมีสุขของสังคมเนื่องจากสินทรัพย์อย่างเช่น หลักทรัพย์และที่ดินทวีมูลค่าตามกาลเวลาความ เหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินจึงมักจะถ่างกว้างกว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้หลายสิบเท่า ในประเทศไทยกลุ่มประชาชนที่รวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศมีทรัพย์สินเกือบ 70 เท่าของกลุ่มที่จนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ นอกจากนี้เศรษฐีหุ้นไทย 500 คน ที่รวยที่สุดถ้าคิดเป็นตระกูลมีประมาณ 200 ตระกูล ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์รวมกันมีมูลค่าถึง 690,231 ล้านบาทในปี 2553 คิดเป็นร้อยละ 8.3 ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ทั้งตลาดในปีเดียวกัน รายงานฉบับนี้สำรวจความเชื่อมโยงระหว่างตลาดทุนกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจบางประการทั้งความเหลื่อมล้ำ ‘ภายนอก’ ตลาดทุนหมายถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เล่นในตลาดทุนกับผู้ที่อยู่นอกตลาดและความเหลื่อมล้ำ ‘ภายใน’ ตลาดทุนหมายถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เล่นที่มีข้อมูลภายในและผู้เล่นที่ไม่มี ผู้เขียนรายงานฉบับนี้พบแนวโน้มที่ดีขึ้นบางประการ อาทิ กระแสการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ประกอบกับการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ส่งผลให้ต้นทุนการมีส่วนร่วมในตลาดทุนลดลง เอื้อต่อการขยายฐานนักลงทุนไปสู่ประชาชนในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่า บุคคลวงในตลาดทุนไทยสามารถสร้างผลตอบแทนผิดปกติในการซื้อหลักทรัพย์ก็จริง แต่บุคคลภายนอกก็มีเวลาเพียงพอที่จะได้รับผลตอบแทนผิดปกตินั้นเช่นกัน ถึงแม้จะต่ำกว่าเล็กน้อยด้วยการซื้อตามบุคคลวงในช่องว่างที่ไม่สูงมาก ระหว่างบุคคลวงในกับบุคคลวงนอกในแง่นี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎการรายงานการเปลี่ยนแปลงในการถือครองหลักทรัพย์ซึ่งกำหนดให้บุคคลวงในต้องรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองภายใน 3 วันนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลง นับเป็นระยะเวลาที่สั้นกว่าหลายประเทศ อย่างไรก็ดีในมุมกลับกฎข้อนี้อาจสร้างแรงจูงใจให้บุคคลวงในใช้บัญชีตัวแทน (นอมินี) ในการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อหลบเลี่ยงภาระการรายงาน ผู้เขียนรายงานพบว่ากฎการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงในตลาดทุนไทยยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันการใช้นอมินีในลักษณะดังกล่าว ในขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความเป็นธรรมในตลาดทุนก็ทวีความเข้มข้นขึ้น โดยในปี 2554 คณะกรรมการเปรียบเทียบได้สั่งปรับกรณีการใช้ข้อมูลภายในและสร้างราคาหุ้นถึง 24 ราย ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ได้กล่าวโทษในข้อหาเดียวกันต่อพนักงานสอบสวนอีก 12 ราย สูงที่สุดในรอบ 12 ปี อย่างไรก็ดีผู้เขียนรายงานพบว่านโยบายของรัฐบางประการมีส่วนซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำภายนอกตลาดทุน ยกตัวอย่างเช่น รัฐไทยไม่เคยเก็บภาษีผลได้จากทุน (capital gains tax) และยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับธุรกรรมซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โดยอ้างตลอดมาว่าเพื่อส่งเสริมการออมและการลงทุนในตลาด ทั้งที่สามารถออกแบบระบบภาษีผลได้จากทุนให้ไม่กระทบกับนักลงทุนรายย่อยและการลงทุนในระยะยาวได้ นอกจากนี้วิธีให้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ยังเป็นไปในทางที่เพิ่มความถดถอยให้กับระบบภาษีในระดับของการบังคับใช้ กฎหมายหลักทรัพย์ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างบางประการที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายในทางที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำภายในตลาดทุนเต็มไปด้วยอุปสรรคอย่างเช่น การที่ต้องพิสูจน์คดีการสร้างราคาหุ้นชนิด ‘สิ้นสงสัย’ ตามบรรทัดฐานของกฎหมายอาญา การที่โครงสร้างของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังถูกครอบงำโดยบริษัทหลักทรัพย์และการที่ ก.ล.ต. และ ตลท. ยังไม่บังคับใช้กฎการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในตลาดทุนอย่างจริงจังและเท่าเทียม