บทคัดย่อ
โครงการวิจัยนี้มุ่งแสวงหาคำตอบว่า ‘แพทยสภา’ ในฐานะกลไกการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ที่เป็นทางการของไทย สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล สมดังเจตนารมณ์ในการกำกับควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ การคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วย และการผลักดันนโยบายและมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและต่อสาธารณะได้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด
ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป วัตถุประสงค์หลักของการปฏิรูปกลไกการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ของประเทศไทย คือ การสร้างกลไกการกำกับดูแลร่วมเพื่อบรรลุธรรมาภิบาลทางคลินิก โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ผู้วิจัยเสนอให้มีการออกกฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เพื่อบังคับใช้แทนที่พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 หัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับใหม่คือการกำหนดให้กลไกการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ในประเทศไทยประกอบด้วย 2 องค์การหลัก ได้แก่ คณะกรรมการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ (คกพ.) ซึ่งเป็นองค์การที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามกฎหมายฉบับใหม่ และ แพทยสภา ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ให้แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดย คกพ.จะรับโอนหน้าที่ด้านการควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพมาจากแพทยสภา และมีกรรมการทั้งที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์และไม่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ ส่วนแพทยสภาจะทำหน้าที่หลักเป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ การจัดทำมาตรฐานการประกอบวิชาชีพแพทย์ และบริหารจัดการระบบทะเบียนประวัติและการออกและต่อใบอนุญาตแพทย์ รวมถึงหน้าที่ด้านการศึกษาแพทย์ด้วย