บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ คือ เพื่อศึกษาทบทวนทางเลือกของระบบการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับบุคลากรสาธารณสุข เพื่อศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกและประมวลผลเพื่อจัดทำภาพอนาคตของระบบการสร้างแรงจูงใจสำหรับบุคลากรสาธารณสุข และเพื่อใช้กระบวนการสานเสวนาหาทางออกอันจะนำไปสู่ข้อยุติในการตัดสินใจด้วยฉันทามติ โดยแบ่งการดำเนินการเป็นสองระยะ ในระยะที่หนึ่งซึ่งเป็นข้อสรุปของรายงานนี้ เริ่มจากการดำเนินการเก็บข้อมูลพื้นฐาน ถึงความเห็นต่างของการจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคลากรสาธารณสุขที่ได้มีการปฏิบัติหลายรูปแบบในพื้นที่ต่างๆ รวบรวมข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากสายวิชาชีพทุกสาขา จากกลุ่มสายสนับสนุน ได้ใช้กระบวนการสานเสวนา เพื่อให้ได้แนวทางออกเบื้องต้น เพื่อทำเป็นเอกสารประเด็นปัญหาที่เรียกว่า อิสชูบุค (Issues Book) ซึ่งมีทั้งข้อมูลพื้นฐานและภาพอนาคตหรือทางออกที่มีทั้งข้อดีและข้อด้อยที่เขียนอย่างเป็นกลาง เพื่อเตรียมนำไปใช้ในการดำเนินการในระยะที่สองคือการประชาเสวนาหาทางออก ข้อสรุปและข้อเสนอเชิงนโยบาย ข้อสรุป จากงานวิจัยนี้ ทำให้เห็นว่าความเข้าใจในกระบวนการของ “การประชาเสวนาหาทางออก” ตามที่คาดหวังไว้ว่าการหาทางออกของความขัดแย้งโดยเฉพาะหลัก การแก้ปัญหาที่หวังผลออกมาเป็นชนะ-ชนะนั้นยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย จึงต้องใช้เวลาและการนำไปปฏิบัติ รวมถึงต้องให้ความรู้ในระดับที่จะสามารถมาสื่อสารกันอย่างเข้าใจได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลในการดำเนินงานสร้างแรงจูงใจในรูปแบบต่างๆ พบว่าขาดการมีส่วนร่วมและได้เกิดความขัดแย้งทั้งด้านข้อมูลความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหานี้ได้มีความขัดแย้งที่ยากต่อการหาทางออก คือ ความขัดแย้งด้านค่านิยมและความขัดแย้งด้านโครงสร้าง ซึ่งถือเป็นความขัดแย้งที่ยากต่อการเจรจา ดังนั้นในกระบวนการการทำงานจึงต้องยึดหลักของการแก้ปัญหาและการป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดจากการทำงานวิจัยนี้ คือ มีกติกาของการทำงาน ผู้วิจัยพบว่าเกือบจะทุกฝ่ายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความเห็นตรงกันว่าการให้แรงจูงใจโดยการใช้ระบบ P4P นั้นดี มีประโยชน์ แต่ควรที่จะมีการปรับปรุงในรายละเอียด ได้แก่ ปรับค่าคะแนนให้ไม่รู้สึกเหลื่อมล้ำมากนัก ให้มีเครื่องมือ โดยเฉพาะระบบไอที (IT) ช่วยในการลงข้อมูลให้มีงบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลางมากกว่าให้โรงพยาบาลหารเอาเองจากเงินบำรุง ให้อิสระในการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมในระดับโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ในรายละเอียดให้มีการประเมินเชิงคุณภาพประกอบ ให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการประเมินเข้าสู่ตำแหน่ง เป็นระบบของกระทรวงเองที่ไม่ใช่เอาระบบของมหาวิทยาลัยมาใช้ อาจเรียกว่า การประเมินสู่ตำแหน่งผู้ชำนาญการการบริการสังคม