บทคัดย่อ
กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ครอบคลุมทุกระดับ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและประชากรที่มีมากขึ้น รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของประเทศในรูปแบบเครือข่ายบริการสุขภาพที่ไร้รอยต่อ มีการเชื่อมโยงบริการทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และ ตติยภูมิ เพื่อให้การประสานงานระดับนโยบายและการบริหารจัดการตามแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข และของเขตบริการสุขภาพสร้างความเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบูรณาการการทำงานร่วมกันสู่การพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศอย่างมีระบบและต่อเนื่องให้บรรลุตามเป้าประสงค์ของการมีสุขภาพดี และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นเขตปกครองพิเศษ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีลักษณะเป็นมหานครขนาดใหญ่ มีความหลากหลายและซับซ้อนทั้งด้านสังคม ประชากร และระบบบริการสุขภาพ ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีปัญหาในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขและหน่วยบริการมีเตียงในการรองรับการบริการของประชาชนไม่เพียงพอ ระบบส่งต่อไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญประชาชนในกรุงเทพมหานครมีความคาดหวังต่อการบริการที่มีคุณภาพสูง ส่งผลให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่มีความแออัดของผู้ไปรับบริการมากยิ่งขึ้น สำนักงานเขตบริการสุขภาพ ส่วนกลางกรุงเทพมหานคร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพ เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับหน่วยงานในทุกสังกัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้บูรณาการแผนงาน/ โครงการและคัดเลือกตัวชี้วัดในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนของหน่วยงานทุกสังกัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามขั้นตอน ดังนี้ 1. ร่วมกันพิจารณาความสอดคล้องของประเด็นยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ในการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข และยุทธศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร 2. ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกแผนงาน/โครงการที่สอดคล้องกันจากทุกกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และ สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร เพื่อจัดทำแผนบูรณาการเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก ดังนี้คือ 1) สอดคล้องกับนโยบาย (Policy issues) 2) มีงบประมาณดำเนินการ(Budget plan 57) 3) มีหน่วยงานร่วมดำเนินการทั้งภาครัฐนอกสังกัดและภาคเอกชน (Stakeholders) 4) สามารถวัดผลดำเนินการได้ (Measurable) 3. ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกตัวชี้วัดที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการประเมินผลการดำเนินงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ตัวชี้วัดในการกำกับ ติดตามประเมินผลการดำเนินงานในพื้นที่ร่วมกัน จำนวน 20 ตัวชี้วัด โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาคัดเลือกตัวชี้วัดที่เหมาะสมจำนวน 150 คนจากหน่วยงานทุกสังกัด จำนวน 58 หน่วยงาน 4. จัดทำแผนบูรณาการเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ 2557เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสื่อสาร การดำเนินงาน และกำกับติดตาม ประเมินผลร่วมกัน แผนบูรณาการเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนทั้งสิ้น 17 โครงการ ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ ด้านการส่งเสริมสุขภาพ 2 เรื่อง การป้องกันและควบคุมโรค 6 เรื่อง การรักษาพยาบาล 5 เรื่อง และการควบคุมกำกับคุณภาพมาตรฐานและการคุ้มครองผู้บริโภค 4 เรื่อง และสอดคล้องกับพันธกิจของกระทรวงสาธารณสุขด้านการกำหนดนโยบาย มาตรฐาน กฎหมาย และบริหารจัดการบนฐานข้อมูลที่มีคุณภาพและการจัดการความรู้ รวมถึงการติดตามประเมินผลการดำเนินการในฐานะผู้กำกับดูแล (Regulator) การจัดทำแผน บูรณาการเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครดังกล่าว คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลฯ มีความคาดหวังต่อความร่วมมืออย่างต่อเนื่องและจริงจังในการดำเนินงานของหน่วยบริการด้านสาธารณสุขในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครทุกระดับ ทุกสังกัดว่าจะช่วยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสังกัดกรุงเทพมหานคร และสังกัดอื่นๆที่เกี่ยวข้องทราบข้อมูลสถานการณ์ด้านสาธารณสุขของประชาชน และสถานการณ์ของระบบบริการสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ สามารถเพิ่มความครอบคลุมการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน รวมทั้งสามารถพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ได้คุณภาพ สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม รสนิยมและการดำรงชีวิตของประชาชนในเมืองใหญ่แบบกรุงเทพมหานคร และมีมาตรฐานเดียวกันตามที่กำหนดส่งผลให้เกิดการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศบรรลุผลตามเป้าประสงค์การมีสุขภาพดีและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน