บทคัดย่อ
กรุงเทพมหานคร เป็นมหานครขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรหนาแน่นมากที่สุดในประเทศไทยและเป็นลำดับที่ 13 ของโลก มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนทั้งที่มีทะเบียนบ้านและไม่มี ซึ่งมีความหลากหลายทั้งด้านสัญชาติ เชื้อชาติ และวัฒนธรรม รวมถึง ความแตกต่างทางด้านรายได้ เศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิต นอกจากนี้ โครงสร้างการบริหารจัดการระบบสุขภาพของเขตกรุงเทพมหานครมีความซับซ้อนด้านการบริหารจัดการที่แตกต่างจากเขตพื้นที่ในส่วนภูมิภาคอื่นของประเทศ เนื่องจากมีหน่วยงานรับผิดชอบด้านสุขภาพระดับท้องถิ่นที่เป็นลักษณะเขตปกครองพิเศษตามพระราชบัญญัติตามระเบียบบริหารราชการ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นโดยวิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและบริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยมีมาตรา 89 ยังระบุให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครในเรื่องต่างๆ ซึ่งรวมถึงการสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาลด้วย จากการศึกษารวบรวมข้อมูลทรัพยากรด้านสุขภาพพื้นฐานเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น มีหน่วยบริการสุขภาพจำนวนทั้งหมด 4,687 แห่ง และส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชน ประกอบด้วย(1) ประเภทที่มีเตียงรองรับผู้ป่วย จำนวน 141 แห่ง จำนวนเตียงรวม 31,622 เตียง ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนสูงถึงร้อยละ 70.92 แต่มีจำนวนเตียงน้อยกว่าภาครัฐ (2) ประเภทไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย จำนวน 4,546 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนสูงถึงร้อยละ 97.01 และพบว่าหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐมีจำนวนบุคลากรทุกประเภทสูงกว่าภาคเอกชนประมาณสองเท่า เป็นต้น การจัดทำเอกสารข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครครั้งนี้ ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นเกี่ยวกับระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่นี้ให้ครบถ้วนและถูกต้อง และทันสมัย จากหน่วยงานทุกสังกัดทั้งภาครัฐและเอกชน ถือเป็นภารกิจหนึ่งของสำนักงานเขตบริการสุขภาพส่วนกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปลายปีงบประมาณ 2556 มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจข้อมูลสถานการณ์และปัญหาระบบสุขภาพในเขตกรุงเทพมหานคร ทบทวนกลไกและกระบวนการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขและการติดตามประเมินผลร่วมกับหน่วยงานทุกสังกัดในมิติต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรค เป็นต้น รวมทั้งการควบคุมกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับบริการและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ คณะผู้จัดทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เอกสารข้อมูลพื้นฐานทั่วไปฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ในการวางแผนและประเมินผลการทำงานให้กับหน่วยงานอื่นๆ ที่รับผิดชอบงานด้านสาธารณสุขเช่นเดียวกัน และจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ดีในการดำเนินงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในระยะยาวต่อไป