บทคัดย่อ
เพื่อ สังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาระบบเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจราจรโดยใช้มาตรการเชิงเทคโนโลยีสารสนเทศ รายงานนี้ ทบทวนและวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารงานวิจัยและงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอุบัติเหตุจราจรโดยใช้มาตรการเชิงเทคโนโลยีสารสนเทศ (Document review) และเอกสารข้อมูลจากการสัมมนาระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ ๑๑ และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง ข้อค้นพบสำคัญ เป็นดังนี้
1. อุบัติเหตุจราจรเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญหนึ่งใน 5 อันดับแรกของประเทศสืบเนื่องมากว่าสองทศวรรษ โดยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าแนวโน้มของปัญหาเปลี่ยนแปลงเช่นไร เนื่องจากความไม่ลงตัวของระบบสารสนเทศ(รวมนิยามการบาดเจ็บและเสียชีวิต)ระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ
2. มีความพยายามแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องด้วยมาตรการทางกฎหมาย วิศวกรรมจราจร/ขนส่ง การรักษาพยาบาล การสื่อสารสาธารณะ แต่ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าประสบความสำเร็จสักเพียงใด ยกเว้นมาตรการภาคการผลิตจักรยานยนต์ประสบความสำเร็จชัดเจนด้วยการเปลี่ยนมาตรฐานไฟหน้าให้ทำงานในทันทีที่ติดเครื่องยนต์ จึงปรากฏว่าจักรยานยนต์ส่วนใหญ่เปิดไฟหน้าในเวลากลางวันและกลางคืน แม้ว่าการสนับสนุนงบประมาณ กำลังคน เทคโนโลยีมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา
3. ภายใต้ข้อจำกัดข้างต้น มาตรการใหม่ๆที่ยังไม่เคยปรากฏหรือไม่เคยประเมินผลในประเทศไทย เช่น การคิดเบี้ยประกันภัยและค่าจดทะเบียนตามความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจราจรอาจลดปริมาณการขับขี่และการชนบนถนนได้ 10-12% 12-15% โดยลำดับ การเก็บค่าผ่านเส้นทางจราจรคับคั่งในนครลอนดอน อาจลดการชนบนถนนได้ 25% เป็นต้น ตัวอย่างเหล่านี้ชวนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการปรับปรุงเนื้อหาและวิธีการบังคับใช้กฎหมายจราจรขนส่งในประเทศไทย ว่าทำอย่างไรให้ทันสมัยและได้ประสิทธิผลประสิทธิภาพอย่างคุ้มค่า
4. ความสำเร็จและความก้าวหน้าของเทคโนโยลีสื่อสารสนเทศ (ไอซีที) ในวงการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจหลายสาขารวมทั้งการประยุกต์ใช้ด้านถนนปลอดภัยและการจราจร ครอบคลุมสามมิติ ได้แก่ ก่อนเกิดเหตุ ขณะชน และหลังเกิดเหตุ โดยปรากฏเป็นเทคโนโลยีในยานยนต์ ในกายภาพถนน และระบบบังคับใช้กฎหมาย กระนั้นก็ตามยังไม่ปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการประยุกต์ใช้ดังกล่าวได้ผลจริงและคุ้มค่า ยกเว้นบางกรณี เช่น การใช้เครื่องตรวจจับความเร็วในหน่วยเคลื่อนที่ ระบบบังคับใช้กฎหมายอัตโนมัติด้วยเครื่องสแกนรถในกระแสจราจร
5. ในประเทศไทยหลายหน่วยงานได้พยายามประยุกต์ใช้ไอซีทีเพื่อความปลอดภัยทางถนน เช่น NECTEC ได้พัฒนาเครื่องมือบางชนิดที่ผ่านการทดสอบว่าใช้งานได้จริง กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทได้พัฒนาเว็บไซด์รองรับการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาถนนในความรับผิดชอบ ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน บางพื้นที่สามารถติดตามรถกู้ชีพได้ตลอดเวลาด้วยไอซีที เป็นต้น แต่ยังไม่ได้ประเมินว่า ขอบเขตการใช้งานจริงครอบคลุมกว้างขวางเพียงใด จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวังในด้านความปลอดภัยเพียงใด ยังขาดเจตจำนงทางการเมืองรองรับการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นแก่การแก้ปัญหาหรือพัฒนาระบบโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นในระบบสารสนเทศ ขาดกฎหมายรองรับการนำข้อมูลมาใช้บังคับพฤติกรรมผู้ขับขี่ ขาดกลไกอภิบาลระบบข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำไปใช้ การเชื่อมโยงระบบข้อมูลต่างๆและปกป้องการละเมิดสิทธิอันชอบธรรมของบุคคลและหน่วยงาน