บทคัดย่อ
โครงการนี้ริเริ่มขึ้นเพื่อจัดทำหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เรียกว่า Introductory Book เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่จะให้ความรู้ความเข้าใจอย่างที่ไม่สามารถหาอ่านได้จากเล่มอื่น เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพและการแพทย์ในมิติทางสังคมวัฒนธรรม รวมถึงประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยการศึกษาทบทวนความรู้จากงานเอกสารวิชาการที่มีอยู่แล้ว ประกอบกับการวิเคราะห์ของนักวิจัย ผู้มีพื้นฐานแนวคิดและประสบการณ์งานวิจัยในประเทศนั้นๆ มาก่อน จึงมาร่วมเขียนบทความกับโครงการนี้ โดยรวบรวมข้อมูลความรู้จัดทำเอกสารและรายนามบุคคลสำคัญๆ ของประเทศพม่า ลาว เวียดนาม เขมร อินโดนีเซีย และไทยไว้เป็นแหล่งสืบค้นและสร้างความร่วมมือการทำงานต่อไป คณะนักวิจัยได้เตรียมการและวางโครงร่างของหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย 8 บทความด้วยกัน คือ บทนำ ให้ความรู้ภาพรวมของสถานภาพความรู้ของประเทศต่างๆ ในอาเซียน บทความแรก เรื่อง ภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์การแพทย์และการแพทย์พื้นบ้านในอินโดนีเซีย โดย ดร. ทวีศักดิ์ เผือกสม นักประวัติศาสตร์ ผู้สนใจเรื่องของอินโดนีเซียและมีพื้นฐานความรู้ที่ดีอยู่แล้ว ดร.ทวีศักดิ์ ได้ review เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์พื้นบ้านของประเทศอินโดนีเซีย และเขียนออกมาอย่างละเอียดโดยใช้เอกสารด้านประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่จำนวนมาก บทความที่สอง เรื่อง วิถีสุขภาพของคนไตดำในเวียดนามบนกระแสความเปลี่ยนแปลง โดยอาจารย์ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ผู้มีประสบการณ์งานศึกษาวิจัยที่เวียดนาม ศึกษาเรื่อง”ขวัญ”กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของกลุ่มชนชาวไตดำที่ประเทศเวียดนาม สนใจต่อวิกฤตสุขภาพของคนไตดำในเวียดนาม ตอนหลังขยายสู่เรื่องของการแพทย์ระบบอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์กันกับการดูแลรักษาสุขภาพของคนที่นั่น บทความที่สาม เรื่อง ชลองโตนเล: การดำรงอยู่ของการแพทย์พื้นบ้านในการคลอดและการดูแลหลังคลอดในประเทศกัมพูชา กรณีศึกษา จังหวัดสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชาโดย นางบุษบงก์ วิเศษพลชัย ศึกษาทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกและทำงานภาคสนามทีสีหนุวิลล์ เวลาเกือบ ๑ ปี เรื่องสุขภาพของผู้หญิงชาวกัมพูชา จึงมีความสนใจศึกษาการดำรงอยู่ของการแพทย์พื้นบ้าน กรณีการคลอดและการดูแลหลังคลอดของชาวกัมพูชา ที่สีหนุวิลล์ พบหมอพื้นบ้านที่ยังมีบทบาทอยู่หลายประเภท และยังพบการใช้ประโยชน์ของชาวกัมพูชา ตัวอย่าง เรื่องของ “ชาหมอบโบราณ” “ครูบารเมย” ซึ่งมีสถานการณ์คล้ายคลึงกับหมอตำแยเมืองไทยอยู่ด้วย บทความที่สี่ เรื่อง “บ้าน/เรือน” กับโลกทัศน์ทางสุขภาพของคนอุษาคเนย์ โดย ดร. เสถียร ฉันทะ ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างบ้านที่เมืองเว้กับบ้านเรือนชาวไทยที่เมืองเชียงตุงในเชิงวิถีวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกัน ในเชิงความหมายและสัญลักษณ์ทางประเพณีพิธีกรรม บทความที่ห้า เรื่อง การค้าสมุนไพรชายแดนไทย ลาว กัมพูชา : ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านท้องถิ่นชาตินิยมสู่ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านในกระแสโลก โดย ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ โดยการศึกษาผ่านเส้นทางของมะขามป้อม ว่าการพัฒนาสมุนไพรพื้นบ้านไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม และเส้นทางค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ไอหรืออะไรต่าง ๆ ที่ใช้ยาสมุนไพรมะขามป้อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาอย่างไร หรือแสดงถึงการแพร่กระจายความรู้มากขึ้นหรือเป็นเรื่องของการค้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของตัวแปรไทยลาว และกัมพูชา บทความที่หก เรื่อง คนริมทางสาย R3A: กรณีศึกษาลาวตอนเหนือโดย ดร.อรัญญา ศิริผล ได้ศึกษาเรื่องของโลภาภิวัตน์กับประเทศจีนมามาก จึงทำการศึกษาภาวะสุขภาพของชีวิตผู้คนที่อยู่ริมถนน R3A เป็นชุมชนบนถนนของชาวฮัมบุ ที่แสดงให้เห็นผลกระทบของนโยบายรัฐแบบข้ามชาติ กับการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ที่ทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้ที่เป็นชุมชนชายขอบ ไร้ที่ทำกินของตนเอง สูญเสียอาชีพและวิถีวัฒนธรรมที่จะหล่อเลี้ยงความมีตัวตน บทความที่เจ็ด เรื่อง การพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านพม่า: มาตรฐานการรักษาและโอกาสของคนจน โดย ดร.เทพินทร์ พัชรานุรักษ์เป็นเรื่องการแพทย์พื้นบ้านพม่าในภาวะทันสมัย ซึ่งได้พบอิทธิพลของความทันสมัยกับแนวคิดความเป็นวิทยาศาสตร์ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบการแพทย์ท้องถิ่น โดยการ manipulate ของรัฐ