บทคัดย่อ
การเปลี่ยนแปลงบริบทของประเทศและนโยบายต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อกำลังคนของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและระบาดวิทยา ส่งผลให้การเจ็บป่วยด้านอุบัติเหตุและฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน" นโยบายประชาคมอาเซียน นโยบายการเป็นศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติ ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความต้องการกำลังคนของระบบการแพทย์ฉุกเฉินในจำนวนที่เพิ่มขึ้นและมีการกระจายอย่างเป็นธรรม นอกจากนั้น พรบ.การกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการมีภาคีด้านท้องถิ่นเข้ามาร่วมในการจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ในขณะที่สถานการณ์กำลังคนของระบบการแพทย์ฉุกเฉินในปัจจุบันพบว่ามีปัญหาหลัก ๆ ดังนี้ (1) การขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน (EP) ในขณะที่การผลิต EP ในแต่ละปีมีจำนวนน้อยไม่สอดรับกับความต้องการของระบบ (2) การกระจายกำลังคนที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะ EP ซึ่งประมาณเกือบครึ่งหนึ่งที่ปฏิบัติงานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเพียงส่วนน้อยที่กระจายอยู่ในต่างจังหวัดซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ นอกจากนั้นสำหรับโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุขมีจำนวนแพทย์ EP น้อย (3) ปัญหาด้านคุณภาพและทักษะการให้บริการในด้านระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (4) การขาดมาตรการที่เหมาะสมทั้งด้านการเงิน และมาตรการนอกเหนือจากตัวเงินในการธำรงกำลังคนในระบบ ข้อเสนอแนะต่อการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ดังนี้ 1) เพิ่มการผลิตกำลังคนด้านสุขภาพให้เพียงพอ โดยเฉพาะ EP และกระจายการผลิตไปสู่มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค 2) ให้มีการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินและกระจายกำลังคนของระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างเป็นธรรม โดยจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินในเครือข่ายบริการ และจัดกำลังคนโดยเฉพาะ EP รวมไว้ในศูนย์บริการหลัก พร้อมจัดระบบสนับสนุนโรงพยาบาลในเครือข่าย และจัดระบบคัดแยกผู้ป่วยเพื่อลดภาระงานของแผนกฉุกเฉิน 3) ดำเนินการมาตรการต่าง ๆ ในการธำรงกำลังคนระบบการแพทย์ฉุกเฉินไว้ในระบบ ทั้งแรงจูงใจที่เป็นตัวเงิน และนอกเหนือจากตัวเงิน