บทคัดย่อ
ระบบอภิบาลยา (Pharmaceutical System) เป็นระบบที่มีความสำคัญต่อการบริหารทรัพยากรด้านสาธารณสุข แต่ก็เป็นระบบที่มีความสลับซับซ้อนและมีความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล ซึ่งในหลายประเทศความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาลของระบบยาในมิติของความโปร่งใสได้กลายเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา โดยจากการประเมินความโปร่งใสในระบบอภิบาลยาขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเมื่อค.ศ. 2006 ในประเทศโบลิเวีย กัมพูชา อินโดนีเซีย มองโกเลีย และ ปาปัวนิวกินี ต่อการขึ้นทะเบียนตำรับยา (Registration) การส่งเสริมการขาย (Promotion) ระบบตรวจสอบ (Inspection) การคัดเลือกยาจำเป็น (Selection) และการจัดซื้อยา (Procurement) พบว่ามีระดับความโปร่งในระบบอภิบาลยาที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและมีความเสี่ยงในเรื่องการมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่มากในกรณีของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าผลการประเมินความโปร่งใสในระบบอภิบาลยา ขององค์การอนามัยโลกของไทยจะได้คะแนนในระดับที่ดีและมีความเสี่ยงต่ำทั้งในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนตำรับยาการคัดเลือกยาจำเป็น และการจัดซื้อยา แต่ยาก็เช่นเดียวกับการบริหารจัดการทรัพยากรของภาครัฐที่อาจเกิดความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาลเช่น การมีค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้น การส่งเสริมการขายที่ไม่สมเหตุสมผล การกระตุ้นให้เกิดการใช้ยาเกินความจำเป็น การทุจริตในการจัดซื้อยาของสถานพยาบาล เป็นต้น โดยเฉพาะขั้นตอนการจัดซื้อยาที่ปรากฏเป็นข่าวที่สะท้อนถึงความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาลอยู่เสมอ เช่น กรณีข่าวทุจริตจัดซื้อยา 1,400 ล้านบาท กรณีข่าวทุจริตสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรณีข่าวเกี่ยวกับการรั่วไหลของยาซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เป็นต้น อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาตามองค์ประกอบของระบบอภิบาลยา (Pharmaceutical System) จะเห็นได้ว่าระบบอภิบาลยามีขั้นตอนและประเด็นการศึกษาที่ซับซ้อน เนื่องจากมีขั้นตอนจำนวนมากตั้งแต่การผลิตจนมาถึงการใช้ยาที่เป็นสายโซ่ที่เชื่อมโยงกันของระบบอาทิเช่น การวิจัยและพัฒนายาใหม่หรือยาที่เป็นสารเคมีใหม่ การทดลองยาในมนุษย์ การจัดการด้านสิทธิบัตรยา การผลิตยา การขึ้นทะเบียนตำรับยา การจัดทำราคายา การออกใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพและสถานประกอบการ การคัดเลือกบัญชียาหลัก การจัดหายา การกระจายยา การตรวจตราสถานประกอบ การสั่งยา การจ่ายยา การติดตามเฝ้าระวังยา และการส่งเสริมการขายยา ดังนั้นการพิจารณาถึงปัญหาธรรมาภิบาลจึงควรพิจารณาอย่างรอบด้านในทุกขั้นตอนของระบบอภิบาลยา โดยไม่ควรพิจารณาเฉพาะความเสี่ยงธรรมาภิบาลตามรายกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวและรับรู้กันอย่างชัดเจน เช่น ปัญหาการจัดซื้อยาและการทุจริตดังที่กล่าวไปตอนต้น ดังนั้น เพื่อให้การศึกษาความเสี่ยงของระบบอภิบาลยาในประเทศไทยมีความครอบคลุมมากขึ้น ในการศึกษาสังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อเสริมสร้างการอภิบาลระบบยาจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ วิเคราะห์ความเสี่ยงที่มีต่อธรรมาภิบาลของระบบอภิบาลยาในประเทศไทย (Risk of Good Governance in Pharmaceutical System) และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลของระบบอภิบาลยาของประเทศไทย เพื่อให้เกิดเป้าหมายในสามด้านได้แก่ (1) การมียาที่มีคุณภาพดีเพียงพอและครอบคลุมต่อการรักษาสุขภาพของประชาชน (2) มีการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐอย่างคุ้มค่า และ (3) ทำให้ระบบอภิบาลยาของรัฐปลอดจากการทุจริต ภายใต้กรอบการศึกษาธรรมาภิบาลที่ประกอบด้วยหลักนิติรัฐ (Rule of Law) ความโปร่งใส (Transparency) ความรับผิดรับชอบ (Accountability) การมีส่วนร่วม (Participation) และประสิทธิภาพ (Efficiency)