บทคัดย่อ
งานวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาองค์ความรู้ การสังคายนาด้านตำราการแพทย์แผนไทยด้านตำราหัตถศาสตร์ศิลาจารึกวัดโพธิ์ โดยมีวัถตุประสงค์เพื่อ 1)เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เรื่องตำราหัตถศาสตร์ การนวดแก้โรคต่างๆ ตามศิลาจารึกวัดโพธิ์ 2) เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ สังคายนา องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย การนวดแก้โรคต่างๆ ตามศิลาจารึกวัดโพธิ์ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ชัดเจน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง 3)เพื่อจัดทำเป็นตำราการแพทย์แผนไทย การนวดแก้โรคต่างๆ ตามศิลาจารึกวัดโพธิ์ของชาติและมรดกโลก 4) เพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยเรื่องตำราหัตถศาสตร์ การแก้โรคต่างๆ ตามศิลาจารึกวัดโพธิ์ของชาติ ใช้วิธีการเชิญผู้เชี่ยวชาญและทบทวนวรรณกรรมโดยมีเกณฑ์ระเบียบวิธีวิจัยคือ 1) รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ การจดบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องการสังคายนา ตำราหรือคัมภีร์ด้านการแพทย์แผนไทยที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจากแหล่งต่างๆ การนวดแก้โรคต่างๆ ตามศิลาจารึกวัด และวิจัยภาพนวดโดยใช้การวิเคราะห์ในองค์ความรู้ด้านเวชกรรมและหัตถศาสตร์ตามหลักศิลาจารึกวัดโพธิ์ 2) เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยร่วมเป็นคณะผู้วิจัย ทบทวนวรรณกรรมและเรียบเรียงเนื้อหาโดยแบ่งมีหัวข้อที่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละท่าน โดยอาศัยเนื้อหาจากตำราดั้งเดิมมาเป็นพื้นฐานสืบค้นตามที่ตำราอ้างถึง เป็นตำราเดิมที่มีการรับรองจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านนั้น
ผลการวิจัยจากการศึกษาหัตถศาสตร์ จากศิลาจารึกวัดโพธิ์ โดยคณะผู้เชียวชาญสามารถสรุปเนื้อหาได้ดังนี้ เนื้อหาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหัตถศาสตร์วัดโพธิ์ อันได้แก่ ประวัติศาสตร์ จรรยาแพทย์ ความรู้พื้นฐานทางการแพทย์แผนไทย และการอธิบายแผนนวด 30 รูป หรือ หัตถศาสตร์วัดโพธิ์ ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุปคือ 1) รูปที่ 1 – 9 ตามความหมายเดิมเป็นการอธิบายการเกิดโรคซึ่งเกิดการจากการที่ฤดูกระทบกายภายนอก จึงเกิดอาการตามเส้นประธานต่างๆ อธิบายรายละเอียดตามพระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ในส่วนของฤดู 6 2) รูปที่ 10 – 11 ตามความหายเดิมเป็นการอธิบายการเกิดโรคซึ่งเกิดจากการที่ฤดูกระทบกายภายใน จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธาตุภายในเกิด กำเริบ หย่อน หรือพิการ อธิบายรายละเอียดตามพระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ในส่วนของฤดู 3 และ 4 3) รูปที่ 12 – 15 ตามความหมายเดิมเป็นการบอกความผิดปกติของธาตุทั้งสี่ ในลักษณะของ ธาตุวิบัติ(ปถวีธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ และเตโชธาตุวิบัติ) จากกองธาตุ อธิบายรายละเอียดตามพระคัมภีร์สิทธิสารสงเคราะห์ 4) รูปที่ 16 – 19 ตามความหมายเดิมเป็นการบอกโรคที่เกิดทางเตโชธาตุ บอกอาการหย่อนและพิการ 5) รูปที่ 20 – 23 ตามความหมายเดิมเป็นการบอกโรคที่เกิดทางอาโปธาตุ บอกอาการหย่อนและพิการ 6) รูปที่ 24 – 27 ตามความหมายเดิมเป็นการบอกโรคที่เกิดทางวาโยธาตุ บอกอาการหย่อนและพิการ 7) รูปที่ 28 – 30 ตามความหมายเดิมเป็นการบอกโรคที่เกิดทางปถวีธาตุ บอกอาการหย่อนและพิการ 8) รายละเอียดของการรักษาอาการของแต่ละโรคหรืออาการ ในแต่ละจุดจำเป็นที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วย เนื่องด้วยผู้ป่วยไม่ได้มีอาการครบทุกอาการตามที่ทฤษฎีกล่าว จึงต้องอาศัยการวิเคราะห์ให้ลึกลงไปและเชื่อมโยงกับพระคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้วิชาเวชกรรมมาอธิบายโดยที่วิธีการรักษาจะเป็นไปตามแนวทางความถนัดและชำนาญของแพทย์ผู้รักษาแต่ละรายไป
นอกจากนี้รูปและตำแหน่งของจุดบนภาพเขียนตามจารึก นั้นไม่สอดคล้องหรือไม่สามารถเปรียบเทียบได้อย่างตรงไปตรงมากับโครงสร้างทางกายวิภาค จึงเป็นการยากที่จะวางจุดบนภาพเขียนกายวิภาคแบบสมัยใหม่ และภาพเขียนนี้ปรับปรุงขึ้นมาจากภาพดั้งเดิมเพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาโดยอ้างอิงจากภาพดั้งเดิม
จากข้อค้นพบดังกล่าว เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ให้ดำรงต่อไป และสามารถเผยแพร่ความรู้วิชาการให้หน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ นิสิต นักศึกษา ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์แผนไทยและผู้สนใจศึกษาการแพทย์แผนไทย เป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยในรูปแบบองค์ความรู้ดั้งเดิมตามตำรับวัดโพธิ์เป็นมรดกไทยและมรดกโลกสืบไป