บทคัดย่อ
โครงการการสนับสนุนการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับคนพิการและผู้สูงอายุเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสำนักงานพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพะเยามีวัตถุประสงค์สำคัญคือพัฒนากลไกการทำงานระดับพื้นที่ ว่าด้วยเรื่องการสำรวจปัญหา และความต้องการ การให้คำปรึกษาและออกแบบ เพื่อปรับสภาพที่อยู่อาศัย พื้นที่ครัวเรือนส่วนบุคคล และ สภาพแวดล้อมตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยการพัฒนาเครือข่ายนักวิชาการสถาปนิกอาสา นิสิตสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อจัดการและแลกเปลี่ยนความรู้ และขับเคลื่อนให้การออกแบบและปรับสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม โครงการได้ดำเนินการระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2554 ถึง เดือนพฤษภาคม 2555 พื้นที่ อำเภอดอกคำใต้ และอำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยาผลของการดำเนินการงานการออกแบบปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยของบ้านทั้ง 10 หลังในพื้นที่ศึกษา ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ช่วยทำให้กระบวนการออกแบบตอบสนองความต้องการของคนพิการและผู้ดูแลได้เหมาะสมสะดวกแก่การใช้สอย นิสิตภาควิชาสถาปัตยกรรมที่มีส่วนร่วมในโครงการตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดการออกแบบเพื่อคนทุกคน (Universal Design) ยิ่งขึ้น การจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน นำโดย สำนักงานพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพะเยาองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาลหนองหล่ม เทศบาลบ้านถ้ำ องค์การบริหารส่วนตำบลคือเวียง และองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว) ร่วมกับสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปัญหาอุปสรรคของโครงการ การประเมินราคาวัสดุก่อสร้างมีความคลาดเคลื่อนมาก เนื่องจากฐานข้อมูลวัสดุส่วนใหญ่อ้างอิงจากราคามาตรฐานกลางอีกทั้งไม่ได้ทำการสำรวจวัสดุก่อสร้างที่สามารถจัดหาและประยุกต์ใช้จากท้องถิ่นได้ อย่างไรก็ตามคณะทำงานได้ประสานกับหน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบในการนำแบบไปดำเนินการก่อสร้าง โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมตามข้อจำกัดของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรข้อเสนอของโครงการการลงสำรวจพื้นที่ ควรรวบรวมข้อมูลด้านวัสดุท้องถิ่น หรือองค์ประกอบในการก่อสร้างที่ชาวบ้านมีอยู่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในประยุกต์ใช้ และเป็นทางเลือกในการระบุรายละเอียดแบบการก่อสร้าง ซึ่งสามารถลดงบประมาณในการก่อสร้าง และลดความคลาดเคลื่อนของการประเมินราคาก่อสร้าง