บทคัดย่อ
สืบเนื่องจาก นโยบายการพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ด้านการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว (Orientation and Mobility Training, O&M training) สำหรับคนตาบอดภายใต้กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ถึงปัจจุบัน และมติที่ประชุมคณะทำงานพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ด้านการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว (O&M) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2556 ที่ระบุให้สนับสนุนการสร้างกลไกความเป็นเจ้าของร่วมกันทุกภาคส่วนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดบริการขององค์กรคนตาบอด จึงเป็นที่มาของโครงการความร่วมมือระหว่างสปสช.กับมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวคือ ในปีงบประมาณ 2557 สปสช.สนับสนุนให้มูลนิธิธรรมิกชนฯ จัดบริการ O&M ให้คนตาบอด จำนวน 150 คน ให้แล้วเสร็จในเวลา 6 เดือน โดยสนับสนุนงบประมาณ 8,500 บาทต่อราย ทั้งนี้ให้การจัดบริการเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดการติดตามประเมินผลครั้งนี้ ดำเนินการระหว่าง ตุลาคม-ธันวาคม 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการบรรลุเป้าหมายการจัดบริการ O&M ของมูลนิธิธรรมิกชนฯ และสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวทางสนับสนุนองค์กรเพื่อคนตาบอด/องค์กรคนพิการ ให้สามารถเป็นหน่วยร่วมจัดบริการ O&M ของสปสช.ทั้งนี้ขอบเขตการประเมิน รวมถึงผล 1) การบรรลุเป้าหมายจำนวนคนตาบอด/สายตาเลือนรางที่ได้รับบริการ 2) จำนวนครูฝึก O&M ที่ให้บริการ 3) หลักสูตรที่ให้บริการคนตาบอด 4) ผลลัพธ์/ความพึงพอใจของผู้รับบริการ พร้อมกรณีศึกษา 5) ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ 6) ความสามารถในการจัดบริการตามมาตรฐานกลาง ที่สปสช.กำหนด 7) ความสามารถพัฒนาบทบาทความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆในพื้นที่ และ 7) กลไกประสานงานสนับสนุน (งบประมาณ/การบริหารจัดการ/อื่นๆ) ระหว่างมูลนิธิธรรมิกชนฯ กับสปสช.ส่วนกลาง, เขต และจังหวัด ตลอดจนศูนย์บริการ O&M ของ รพ. ในพื้นที่ ทำการเก็บข้อมูลทุกหน่วยบริการด้วยแนวคำถามโดยวิธีสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ปฏิบัติงาน และเก็บข้อมูลผลลัพธ์และความพึงพอใจผู้รับบริการจำนวนประมาณร้อยละ 30 ของผู้รับบริการทั้งหมด โดยเลือกตัวอย่างกระจายตามหน่วยบริการทุกสาขาด้วยสัดส่วนเดียวกัน
ผลการประเมินพบว่า มูลนิธิธรรมิกชนฯ มีการจัดบริการกระจายอยู่ใน
10 จาก 12 สาขาย่อยของมูลนิธิธรรมิกชนฯ ซึ่งกระจายอยู่ในทั้งสี่ภาคทั่วประเทศ โดยสามารถให้บริการได้ 150 ราย ครบตามจำนวนภายในเวลา 6 เดือนตามที่กำหนด การบริการเป็นไปตามมาตรฐานการจัดบริการและมาตรฐานครูฝึกที่กำหนด และ การติดตามผลลัพธ์ จำนวน 74 ราย (ประมาณร้อยละ 50 ของผู้รับบริการทั้งหมด) พบว่า ร้อยละ 98 ผู้รับบริการไม่มีความยากลำบากในการทำกิจวัตรประจำวัน และการเคลื่อนที่ในบ้าน แต่ประมาณร้อยละ 54 ยังมีความยากลำบากในการทำสวน ร้อยละ 36 ยังยากลำบากในการทำอาหาร และร้อยละ 33 ยังมีความยากลำบากในการเคลื่อนที่นอกบ้าน ทั้งนี้ส่วนใหญ่พึงพอใจในบริการที่ได้รับในระดับมากถึงมากที่สุด โดยเฉพาะประเด็นความรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการทำกิจวัตรประจำวัน การเคลื่อนที่ในบ้าน การออกสังคม มีเพื่อนมากขึ้น การมีโอกาสฝึกอาชีพ และ ความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ยกเว้นเรื่องการมีโอกาสตรวจสุขภาพ กับการมีโอกาสทางการศึกษายังพึงพอใจค่อนข้างน้อย ข้อจำกัดในการบริการที่พบคือ การประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาล ในพื้นที่เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพตา และการจัดทำฐานข้อมูลคนตาบอดที่มารับ บริการเพื่อการพัฒนาต่อเนื่อง ในขณะที่มีข้อเด่นในการดำเนินการหลายประการ
เช่น การมีสาขาที่กระจายตัวทั่วประเทศ และสามารถช่วยเหลือกันในแง่กำลังคน ครูฝึกที่เสริมกันให้ได้ตามมาตรฐาน การมีมาตรการจัดบริการทั้งในที่ตั้งซึ่งเป็นโรงเรียน และศูนย์เรียนรู้ฝึกอาชีพ และแบบเชิงรุกที่ลงไปในชุมชน การมีความเชี่ยวชาญและเป็นศูนย์บริการด้านอื่นๆ สำหรับคนตาบอดทำให้สามารถส่งต่อเพื่อฟื้นฟูด้านอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือเป็นหน่วยงานมืออาชีพด้านบริการ คนตาบอด ที่มีการมอบหมายผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนงานนี้อย่างจริงจังเต็มเวลา