บทคัดย่อ
มนุษย์มียาต้านจุลชีพขนานแรกๆ เมื่อประมาณ 70 ปีก่อน ในครั้งนั้น ยาต้านจุลชีพ ได้รับการขนานนามว่า “ยาปาฏิหาริย์” (miracle drug หรือ wonder drug) เนื่องจากยานี้ทำให้มนุษย์จำนวนมากรอดตายจากการติดเชื้อ องค์การวิชาชีพหลายแห่งเคยประกาศว่า มนุษย์จะควบคุมโรคติดเชื้อได้และโรคติดเชื้อจะไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขอีกต่อไปจากการมียาต้านจุลชีพและวัคซีน ยาต้านจุลชีพมีคุณสมบัติแตกต่างจากยากลุ่มอื่นอย่างน้อย 2 ประการ คือ 1) ยาต้านจุลชีพยับยั้งและทำลายเชื้อโรคโดยมีผลต่อเนื้อเยื่อและเซลล์มนุษย์น้อยมาก ส่วนยากลุ่มอื่น มักมีผลต่อเนื้อเยื่อและเซลล์มนุษย์เป็นสำคัญ และ 2) การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างไม่เหมาะสม เกิดผลข้างเคียงจากยาและเสียค่าใช้จ่ายเหมือนยากลุ่มอื่น แต่การใช้ยาต้านจุลชีพยังชักนำให้เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพด้วย การใช้ยาต้านจุลชีพมากเกินความจำเป็นจะชักนำให้เชื้อ โรคดื้อยาได้เร็วขึ้นมาก มนุษย์ได้ค้นพบและผลิตยาต้านจุลชีพขนานใหม่อย่างต่อเนื่องในระยะ 40 ปี หลังมียาขนานแรกเพื่อใช้รักษาเชื้อโรคดื้อยาต้านจุลชีพขนานที่มีมาก่อน จนมียาต้านจุลชีพ หลายสิบกลุ่มมากกว่า100 ขนาน ยาต้านจุลชีพขนานใหม่มีจำนวนลดลงมากอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ขณะที่การดื้อยาต้านจุลชีพของเชื้อโรคยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีเชื้อโรคหลายชนิดที่ดื้อยาต้านจุลชีพทุกขนาน โลกจึงเข้าสู่ยุคหลังยาต้านจุลชีพ (Post-Antibiotic Era) ซึ่งมนุษย์จะป่วยและตายจากโรคติดเชื้ออีกครั้งเพราะไม่มียารักษาเช่นเดียวกับยุคก่อนมียาต้าน จุลชีพ (Pre-Antibiotic Era) ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพปีละมากกว่า 100,000 ราย โดยผู้ป่วยเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพมากกว่า 30,000 ราย และสูญเสียทรัพยากรจากการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพมากกว่า 40,000 ล้านบาทหรือมากกว่าร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ คือ การใช้ยาต้านจุลชีพมากเกินความจำเป็น พฤติกรรมสุขอนามัยที่ไม่เหมาะสม และมาตรการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลยังด้อยประสิทธิภาพ การดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาสุขภาพที่มนุษย์สร้างขึ้น ปัญหานี้มีผลต่อผู้สร้างปัญหา และผู้อื่น ปัญหานี้เมื่อเกิดแล้วมักถาวร หรือแก้ไขได้ยากมาก หรือใช้เวลาแก้ไขนานมาก ดังนั้น การดื้อยาต้านจุลชีพจึงเกี่ยวข้องกับทุกคน และทุกคนต้องช่วยกันควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยา โครงการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทยมีคำขวัญว่า “หยุดเป็นเหยื่อเชื้อดื้อยา” โดยสนับสนุนและส่งเสริมให้ทุกคนมีพฤติกรรม “3 หยุด” ได้แก่ 1) หยุดสร้างเชื้อดื้อยาโดยใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบ คือ ใช้ยาต้านจุลชีพน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น 2) หยุดรับเชื้อดื้อยา และ 3) หยุดแพร่เชื้อดื้อยาโดยมีพฤติกรรมสุขอนามัยส่วนบุคคลที่เหมาะสม และมีพฤติกรรมควบคุมและป้องกันการรับและแพร่เชื้อในโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีจำนวนเกือบ 1,000 แห่ง เป็นสถานพยาบาลประจำตำบลที่สำคัญเพราะให้บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิกับประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งการรักษาโรคติดเชื้อด้วยยาต้านจุลชีพ (ยาปฏิชีวนะ)ด้วย รพ.สต.จึงมีความสำคัญในการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพด้วยแม้ว่าจะมีขีดความสามารถจำกัด เนื่องจากไม่มีแพทย์ประจำและมีรายการยาต้านจุลชีพจำนวนน้อย คู่มือการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียด้วยยาปฏิชีวนะที่ รพ.สต. ฉบับนี้เป็นมาตรการส่งเสริมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบ ซึ่งเป็นการหยุดสร้างเชื้อดื้อยา วิธีปฏิบัติและยาปฏิชีวนะที่ระบุไว้ในคู่มือฉบับนี้เป็นเพียงคำแนะนำที่มักใช้กับผู้รับบริการส่วนมากในสถานการณ์ปกติได้ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีลักษณะทางคลินิกเฉพาะซึ่งอาจไม่สามารถใช้แนวทางที่แนะนำไว้ได้ ดังนั้น ผู้ใช้คู่มือต้องมีวิจารณญาณในการปรับวิธีปฏิบัติและยาปฏิชีวนะที่แนะนำไว้ให้เหมาะสมกับสถานภาพของผู้รับบริการและสถานการณ์ของการให้บริการด้วย ผู้นิพนธ์หวังว่าคู่มือการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียด้วยยาปฏิชีวนะที่ รพ.สต. ฉบับนี้ จะช่วยลด ชะลอ และกำจัดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย