บทคัดย่อ
จากการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ประเทศไทยได้มีนโยบายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและกำหนดให้สถานพยาบาลปฐมภูมิเป็นบริการด่านแรก และเรียกสถานบริการนี้ว่า ศูนย์สุขภาพชุมชน เนื่องจากเป็นนโยบายใหม่ระดับชาติ การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาถึงนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติที่ระดับจังหวัด และกระบวนการดำเนินงานในรอบ ๖ เดือนแรก วิธีการศึกษาประกอบด้วยการทบทวนเอกสาร การสังเกตและการสอบถามทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดำเนินการของศูนย์สุขภาพชุมชน จ.สระบุรี จำนวน ๒๐ แห่งในเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน ๒๕๔๕
ผลการวิจัยพบว่า ด้วยคุณลักษณะของนโยบายที่เร่งรัด ทำให้เจ้าหน้าที่มีความพร้อมน้อยในหลายด้าน เช่น ไม่ชัดเจนในบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ดีต่อนโยบาย โดยเห็นด้วยกับนโยบายที่ “เน้นสร้างสุขภาพ” สูงสุด แต่ไม่เห็นด้วยกับ “การนำเงินเดือนมารวมในงบที่สนับสนุนโครงการ” เมื่อประเมินรูปแบบของการจัดบริการพยว่า เกิดภาพการจัดบริการศูนย์สุขภาพชุมชนแบบทดลองที่หลากหลายทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาลในเงื่อนไขที่แตกต่างกัน โดยศูนย์สุขภาพชุมชนมีความพร้อมในด้านโครงสร้าง สถานที่ในการจัดบริการ มากกว่าการใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ประเมินสภาพปัญหา การให้อิสระในการตัดสินใจและวางแผนจัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนทำให้มีการกระจายอย่างไม่เสมอภาคกระจุกตัวในที่ที่มีสถานบริการหนาแน่นอยู่แล้วในภาพรวมประชาชนมีความพึงพอใจค่อนข้างมาก ร้อยละ ๘๒.๘ แต่มีความพึงพอใจน้อยในงานบริการทันตสาธารณสุข และการเยี่ยมบ้าน การศึกษากรณีจังหวัดสระบุรีครั้งนี้ให้ภาพเชิงลึกของโครงการศูนย์สุขภาพชุมชน ภายใต้นโยบายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อจังหวัดสระบุรี จังหวัดอื่นและส่วนกลาง ในการพัฒนาการดำเนินงานต่อไป