บทคัดย่อ
รายงานฉบับนี้ จัดทำขึ้น เพื่อรายงานผลการดำเนินงานภายใต้โครงการการวิเคราะห์งาน การจัดอัตรากำลัง และความก้าวหน้าของบุคลากรในระดับบริหารในหน่วยงานบริหารสาธารณสุขในส่วนภูมิภาค (ระดับเขตบริการสุขภาพ จังหวัด และอำเภอ) โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์โดยรวม ดังระบุไว้ในเอกสารโครงการดังต่อไปนี้
1. เพื่อวิเคราะห์หลักการและแนวทางในการกำหนดกรอบอัตรากำลังและความก้าวหน้าของบุคลากรระดับบริหารในเขตบริการสุขภาพ
2. เพื่อวิเคราะห์งาน ภาระงาน ของบุคลากร ในระดับบริหาร ของหน่วยงานบริหารสาธารณสุขในส่วนภูมิภาค (ระดับเขตบริการสุขภาพ จังหวัด และอำเภอ)
3. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบเส้นทางความก้าวหน้าของบุคลากรในหน่วยงานบริหารสาธารณสุขในส่วนภูมิภาค กับหน่วยราชการอื่น และองค์กรรูปแบบอื่น
4. เพื่อวิเคราะห์กรอบอัตรากำลังและพัฒนาข้อเสนอแนวทางการพัฒนาความก้าวหน้าของบุคลากรระดับบริหารแต่ละตำแหน่งภายใต้สถานการณ์การอภิบาลระบบสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป จากการปฏิรูประบบสุขภาพในรูปแบบต่าง ๆ
5. เพื่อประมาณการกรอบอัตรากำลัง ของบุคลากรในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
โดยขอบเขตการศึกษาครอบคลุมถึง
ก. สถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคตของการจัดการบุคลากรระดับบริหาร ของ เขต จังหวัด อำเภอ
● เมื่อเปรียบเทียบ ภาระงาน ในปัจจุบัน และภาระงานหลังการปฏิรูป
● เมื่อเปรียบเทียบ หน่วยบริหารระดับพื้นที่ของ สป.สธ. กับ หน่วยคล้ายกันของกระทรวงหรือหน่วยงานอื่น
ข. กรอบแนวคิด หลักการ เพื่อใช้ในการจัดลำดับความสำคัญ และกำหนดแนวทางความก้าวหน้า ของบุคลากรระดับบริหาร ในแต่ละระดับพื้นที่ รวมถึงการคาดการณ์จำนวนตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญที่ควรมีทั้งที่ระดับ สสอ. สสจ. (รวมหัวหน้าฝ่ายภายใน สสจ. เช่น คุ้มครอง พัฒนาบุคลากร บริหาร ยุทธศาสตร์ ทันตสาธารณสุข) และ ผู้บริหารระดับเขต (รวมอัตราตำแหน่งใหม่ที่จำเป็นต้องมีที่ระดับเขต)
ค. การศึกษากรอบแนวคิดและหลักการกำหนดผู้ดำรงตำแหน่งเชี่ยวชาญ จะครอบคลุมเรื่อง
● ระดับและตำแหน่งประเภทใด เป็น บริหาร หรือ วิชาการ หรือ บริการ
● ความก้าวหน้า ควรวัดจากอะไร
● เกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่ง (อวช.) ควรเป็นอย่างไรไม่ทำผลงานวิชาการได้หรือไม่
● การจัดการตำแหน่ง ควรมีการตัดสินใจที่หน่วยงานและระดับใด สามารถทำได้โดยไม่ต้องยุบตำแหน่งได้หรือไม่
โดยอาจจัดทำเป็นทางเลือกโดยคำนึงถึงเงื่อนไขของ กพ. ในปัจจุบันและการปรับเปลี่ยนที่จำเป็นในอนาคต, การกำหนดแนวทางความก้าวหน้าตามภาระงานที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาหลักเกณฑ์ ความเป็นไปได้ ที่จะใช้พิจารณาความก้าวหน้า
ทั้งนี้ การศึกษานี้จะไม่รวมบุคลากรกลุ่มปฏิบัติการ และไม่รวมบุคลากรของหน่วยงานในส่วนกลาง