บทคัดย่อ
เรื่องหกล้มเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน มีคำกล่าวไว้ว่า เด็กๆยิ่งหกล้ม จะยิ่งโตไวขึ้น เพราะการล้มในเด็กมักเกิดจากการที่เด็กวิ่งกระโดดโลดเต้น หรือทำกิจกรรมสนุกสนานต่างๆที่เป็นการกระตุ้นการสร้างกระดูกให้แข็งแรง กระตุ้นพัฒนาการและกระบวนการซ่อมแซมต่างๆของร่างกาย การหกล้มในเด็กจึงมักไม่รุนแรง หรือถึงแม้รุนแรง เด็กก็สามารถรักษาตัวและฟื้นร่างกายกลับมาเป็นปกติได้ แต่ในผู้สูงอายุ การหกล้มอาจนำไปสู่อาการบาดเจ็บที่รุนแรงมาก เช่น กระดูกหัก เนื่องจากกระดูกของผู้สูงอายุเริ่มเปราะบางลง และความสามารถในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆก็ลดลงด้วยเช่นกัน ทำให้ไม่สามารถซ่อมแซมร่างกายกลับมาได้ดังเดิม ต้องอาศัยการช่วยจากภายนอก เช่น การผ่าตัดดามเหล็กที่กระดูกหรือใช้กระดูกเทียม ซึ่งส่งผลให้ผู้สูงอายุไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดังก่อนที่จะหกล้ม ดังนั้น การหกล้มในผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ และต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นบ่อย และไม่เกิดอาการบาดเจ็บที่รุนแรง
หนังสือเล่มนี้เขียนโดยคณาจารย์สาขากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดการหกล้ม และแนวทางในการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดการหกล้ม รวมถึงวิธีการประเมินว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงให้เกิดการล้มหรือไม่ และวิธีการฝึกตนเองเพื่อเพิ่มความสามารถในการทรงตัว อันเป็นการนำไปสู่การลดความเสี่ยงในการล้ม