บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจแบบแผนการคลอดบุตรของหญิงไทยในช่วง 12 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2533-2544 โดยส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ไปยังโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศจำนวนสองครั้งในปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2545 โดยการสุ่มตัวอย่างแบบ multi-stage non-proportional probability to size systematic random sampling การศึกษานี้มีอัตราการตอบกลับ ร้อยละ 64 และ 36 ตามลำดับ ผู้วิจัยพบว่าการคลอดบุตรส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (โรงพยาบาลระดับจังหวัด) และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตลอดระยะเวลาของการสำรวจ โดยคิดเป็นร้อยละ 74 ของการคลอดทั้งหมดในปี พ.ศ. 2544 ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 จำนวนคลอดบุตรในโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังวิกฤติเศรษฐกิจ หญิงไทยมีอุปสงค์ต่อบริการคลอดบุตรในโรงพยาบาลลดต่ำลงอย่างชัดเจน โดยเพิ่มอุปสงค์ต่อบริการในโรงพยาบาลภาครัฐมากขึ้น ตลอดช่วงระยะกว่าทศวรรษอัตราการคลอดทางช่องคลอด การคลอดด้วยคีม และการคลอดด้วยเครื่องดูดสูญญากาศมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ ขณะที่อัตราการคลอดบุตรด้วยการผ่าตัดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในปี พ.ศ. 2533 อัตราการผ่าคลอดของประเทศอยู่ที่ ร้อยละ 14.8 และเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 12 ปี เป็นร้อยละ 22.09 ในปี พ.ศ. 2539 อย่างไรก็ตามภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจอัตราการผ่าตัดคลอดลดต่ำลงและคงที่ในอัตราร้อยละ 20 ในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2544 อัตราผ่าตัดคลอดในโรงพยาบาลชุมชนคิดเป็นร้อยละ 5.6 โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปร้อยละ 29.6 และโรงพยาบาลเอกชนร้อยละ 53.9 การผ่าตัดคลอดทุติยภูมิมีสัดส่วนเป็นหนึ่งในสามของการผ่าตัดคลอดทั้งหมด การศึกษาครั้งนี้ได้ให้ข้อมูลแบบแผนการคลอดบุตรที่เป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดบางประการของข้อมูล นักวิจัยเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำฐานข้อมูลแบบแผนการคลอดบุตรอย่างเป็นระบบเพื่อการประเมินในภาพรวมทั้งประเทศ และเพื่อการใช้ประโยชน์ในการประเมินโดยโรงพยาบาลเอง