บทคัดย่อ
การบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยเป็นปัญหาที่ท้าทายรัฐบาลทุกสมัย เนื่องจากประเทศไทยมีกองทุนประกันสุขภาพที่หลากหลาย เช่น กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว การประกันสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ที่บริหารจัดการกองทุนรักษาพยาบาลเอง เป็นต้น โดยแต่ละกองทุนมีการบริหารจัดการแบบแยกส่วน ทำให้เกิดปัญหาความลักลั่นของสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่เป็นสมาชิกของแต่ละกองทุน รวมทั้งปัญหาของการขาดระบบหรือมาตรฐานกลางในการบริหารจัดการ เช่น การบริหารฐานข้อมูลผู้ป่วย วิธีการและขั้นตอนในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล การตรวจสอบการเบิกจ่าย และคุณภาพของการรักษาพยาบาล ฯลฯ ทำให้มีต้นทุนในการดำเนินการที่สูงเกินควร รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมามีความพยายามที่จะให้การบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงสาธารณสุข เป็นไปอย่างบูรณาการ หากแต่รูปแบบที่ใช้ในดำเนินการล้วนใช้วิธีการ จัดตั้ง “คณะกรรมการเฉพาะกิจ” จากมติคณะรัฐมนตรี ตัวอย่างเช่น สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (คพคส.) ซึ่งมีภารกิจในการออกแบบการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพที่บูรณาการทั้ง 3 กองทุน แต่ต่อมารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ยกเลิกคณะกรรมการ คพคส. ดังกล่าว และแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์ขึ้นมาแทน โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักในการควบคุมค่าใช้จ่ายของระบบประกันสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะค่ายา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและวิธีการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพสาธารณสุขของประเทศที่ผันแปรไปตามทิศทางของการเมือง ทำให้เกิดคำถามว่าโครงสร้างองค์กรกลไกที่แต่ละรัฐบาลตั้งขึ้นมานั้นมีประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใด และโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมคืออะไร การศึกษาชิ้นนี้ได้วิเคราะห์โครงสร้างภารกิจและวิธีการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งผลงานของคณะกรรมการทั้ง 2 คณะที่กล่าวมา ได้เล็งเห็นความเหมือน ความต่าง จุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาส ในการพัฒนาในมิติต่างๆ จนกระทั่งได้จัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการจัดโครงสร้างกลไกการพัฒนาระบบประกันสุขภาพแห่งชาติในอนาคต