บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่องธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้องกับกำลังคนด้านสุขภาพนั้นทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศนั้นยังมีไม่มาก ในประเทศไทยได้มีการกล่าวถึงเรื่องธรรมาภิบาลกันอย่างกว้างขวางในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา โดยแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) เน้นการพัฒนาระบบบริหารจัดการประเทศให้เกิดธรรมาภิบาล โดยมีเป้าหมายประชาชนรู้สิทธิหน้าที่และมีส่วนร่วมมากขึ้นในการตัดสินใจ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมตรวจสอบระบบการบริหารจัดการด้านต่างๆ ของประเทศ ซึ่งในแผนเดียวกันนี้ได้เน้นการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างครบวงจร ที่รวมถึงธรรมาภิบาลของระบบสุขภาพ ที่ผ่านมาระบบสุขภาพในประเทศไทยได้มีการพัฒนาธรรมาภิบาลในเชิงภาพรวมของระบบ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงในการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ด้าน คือ การวางแผน, การผลิต และการบริหารจัดการ ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการทั้ง 3 ด้านนั้นยังมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนค่อนข้างน้อย ยกตัวอย่างเช่น การผลิตที่ต่างฝ่ายต่างทำ ไม่มีการวางแผนร่วมกันจึงทำให้ไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสุขภาพที่วางไว้ทำให้เกิดปัญหาการผลิตกำลังคนด้านสุขภาพไม่เพียงพอ หรือผลิตเกินความต้องการ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนาระบบธรรมาภิบาลที่เฉพาะเจาะจงกับการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของธรรมาภิบาลของการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ ที่เป็นการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและเข้มแข็งของทุกภาคส่วน น่าจะทำให้ระบบสุขภาพในภาพรวมของประเทศไทยมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ประกอบกับปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเรื่องของความต้องการด้านสุขภาพเนื่องจากปัจจัยหลายๆ อย่าง ได้แก่ อุบัติการณ์ของโรคที่เกี่ยวเนื่องกับความยากจนซึ่งยังดำรงอยู่ อุบัติการณ์โรคใหม่ๆ (เช่น Ebola, ไข้หวัดนก) การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเพิ่มขึ้นของโรคเรื้อรัง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและเศรษฐกิจต่างๆ เป็นต้น ดังนั้น การวางแผนพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพภายใต้หลักธรรมาภิบาล เพื่อให้กำลังคนด้านสุขภาพมีจำนวนเพียงพอ มีการกระจายอย่างเป็นธรรม มีสัดส่วนที่เหมาะสม และมีการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาสุขภาพที่ยั่งยืนของประเทศ ที่สอดรับกับเป้าหมายสุขภาพในระดับโลกของ Post 2015 Sustainable Development Goals (SDGs) ด้วย