บทคัดย่อ
ประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 4 ครั้งที่ผ่านมาระบุว่าประเทศไทยมีจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในปี 2537 จำนวนผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 6.8 ของประชากรทั้งประเทศ และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.4 ร้อยละ 10.7 และร้อยละ 12.2 ในปี 2545, 2550, 2554 ตามลำดับ สถิติการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุระบุว่าผู้สูงอายุมีอายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และมีช่วงชีวิตชราภาพนานขึ้น แต่สมรรถภาพร่างกายกลับตรงกันข้าม คือเสื่อมลงตลอดเวลาอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวันและทำให้ต้องมีคนหรืออุปกรณ์ช่วยเหลือ สภาวะเช่นนี้ทำให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้เข้าสู่ภาวะพึ่งพิงหรือพิการ บุคคลกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีการจัดการและการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสมในทุกๆ มิติ ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ วรเวศม์ สุวรรณระตา (อ้างถึงใน อุทุมพร วงษ์ศิลป์ และคณะ, 2557) ยังได้ศึกษาการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในเขตกรุงเทพมหานคร และพบว่าครอบครัวที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วย ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะลดลงได้ หากเราปรับสภาพแวดล้อมให้สามารถป้องกันการเจ็บป่วย ส่งเสริมสุขภาพ และบำบัดฟื้นฟูร่างกายผู้สูงอายุได้ หนังสือเล่มนี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูล จัดการและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงหรือพิการ และได้รวบรวมผลงานประกวดการปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีชุมชนเอาไว้
ผลงานเหล่านี้ผ่านการใช้งานจริงมาแล้ว อย่างไรก็ตาม แต่ละผลงานมีความเป็นปัจเจก ระยะ สัดส่วน รวมถึงขนาดขององค์ประกอบต่างๆ ในผลงานอาจเหมาะสมเฉพาะบุคคล ทั้งนี้ หากมีการนำผลงานไปพัฒนาต่อ ควรมีการประยุกต์ให้เหมาะสมกับผู้ที่ใช้งานและบริบทของท้องถิ่นหรือชุมชน ช่างชาวบ้านหรือช่างในชุมชนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์และพัฒนาเป็นผลงานที่เหมาะสมในท้องถิ่นต่อไป