บทคัดย่อ
การติดตามประเมินผลชุดโครงการดูแลสุขภาพช่องปากคนพิการครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาสมรรถนะนักศึกษาทันตแพทย์และทีมทันตบุคลากรเพื่อดูแลสุขภาพช่องปากผู้พิการ ดำเนินการใน 3 จังหวัด (เชียงใหม่ ขอนแก่น และพิษณุโลก) และมีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และ 2) โครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการช่องปากของคนพิการ ดำเนินการใน 6 จังหวัด (ขอนแก่น หนองบัวลำภู อุบลราชธานี นครราชสีมา สงขลา และน่าน) มีชมรมทันตกรรมสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบ ทั้งสองโครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานสร้างเสริมสมรรถนะบุคคลและการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการดำเนินชีวิตในสังคมที่พึ่งพาตนเองได้ ที่บริหารแผนฯ โดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สนับสนุนงบประมาณโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การดำเนินการโครงการนี้ เริ่มช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 - กันยายน 2558 มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อติดตามการบรรลุเป้าหมาย และปัญหาอุปสรรคของชุดโครงการฯ 2) เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาและผลลัพธ์การเข้าถึงการดูแลสุขภาพช่องปากของคนพิการในพื้นที่ปฏิบัติการ และ 3) เพื่อสังเคราะข้อเสนอในการปรับปรุงทิศทางและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานดูแลสุขภาพช่องปากคนพิการในระยะต่อไป โดยเก็บข้อมูลจากคนพิการและผู้ดูแล ทันตบุคลากร นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานภายใต้กิจกรรมหรือโครงการย่อยในชุดโครงการฯ วิธีการติดตามประเมินผล ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ 1) การประเมินกระบวนการและการบรรลุวัตถุประสงค์ตามตัวชี้วัด ผลลัพธ์การเข้าถึงบริการฯ และปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานในภาพรวม 2) การถอดบทเรียนกรณีศึกษาการดำเนินงานดูแลสุขภาพช่องปากคนพิการ 3) การสังเคราะห์ข้อเสนอในการปรับปรุงทิศทางและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานดูแลสุขภาพช่องปากคนพิการในระยะต่อไป วิธีการเก็บข้อมูลและเครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ 1) ทบทวนเอกสารโครงการ รายงาน กฎหมาย และนโยบายที่เกี่ยวข้อง 2) เก็บข้อมูลเชิงปริมาณด้วยการส่งแบบสอบถามที่พัฒนาขึ้นเฉพาะทางไปรษณีย์ถึงทันตบุคลากรผู้รับผิดชอบโครงการและการบริการทุกคนรวม 40 คน แบบสอบถามประกอบด้วยข้อมูลทั่วไป 8 ข้อ ความพึงพอใจต่อโครงการ 10 ข้อ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากโครงการต่อการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากคนพิการ 15 ข้อ ปัญหาอุปสรรค 5 ด้าน และข้อเสนอแนะ และ 3) เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่ม การสังเกตการณ์และเข้าร่วมกิจกรรม เช่น การออกหน่วยบริการ การจัดประชุมเพื่อนำเสนอความก้าวหน้า และสรุปบทเรียน